กรมชลเดินหน้าสานโครงการพระราชดำริ ทุ่ม 500 ล้านผุดอ่างแม่แวนแก้แล้งยั่งยืน

0
532

กรมชลประทานเผยผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แวน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ครอบคลุมองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำให้ประชาชนมีน้ำไว้ใช้และเพาะปลูกพืชเกษตรในฤดูแล้ง คลุมพื้นที่ทั้งหมด 10,206.26 ไร่ รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แว่นเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการจัดหาน้ำให้กับราษฎรตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรสอง ที่ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2530 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำให้ประชาชนมีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการได้

ทั้งนี้ พื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แวน บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา 30.41 ไร่ ซ้อนทับป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งัด 83.67 ไร่ ต้องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย
โดยต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมองค์ประกอบ 4 ด้านหลัก ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตอย่างครบถ้วน และได้มีการจัดแสดงความคิดเห็นและผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน ครั้งที่ 1 ประชุมปฐมนิเทศโครงการ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีผู้เข้าร่วม 206 คน ครั้งที่ 2 ประชุมกลุ่มย่อย วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีผู้เข้าร่วม 136 คน และครั้งที่ 3 ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ วันที่ 19-20 มกราคม พ.ศ. 2564 และผลสรุปจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการดังกล่าวจะมีหัวงานตั้งอยู่ที่ 1 บ้านล้อง และหมู่ที่ 9 บ้านไชยงาม ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 4,416,918 ลบ.ม เป็นเขื่อนดินแกนดินเหนียว อาคารประกอบหัวงาน ฝั่งอาคารทางระบายน้ำล้นตั้งอยู่ทางซ้ายของตัวเขื่อน ฝายเป็น Ogee โค้งหรือรูปเกือกม้า อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิมจะเป็นชนิดท่อเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีด

 

ด้านพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการ ครอบคลุม 2 ตำบลในเขตอำเภอพร้าว ได้แก่ ตำบลเขื่อนผาก และตำบลแม่แวน มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด 10,206.26 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 7,923.00 ไร่ ส่งน้ำลงระบบเหมืองฝายเดิม และระบบท่อส่งน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในปัจจุบัน มูลค่าก่อสร้างโครงการคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 ล้านบาท รวมระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

ขณะเดียวกันการ ก่อสร้างโครงการอาจทำให้เกิดความขุ่นในลำน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้น้ำของชุมชนด้านท้ายน้ำ หรือเกิดผลกระทบต่อระบบการใช้น้ำของชาวเขา มีราษฎรสูญเสียที่ดินกว่า 62 แปลง และกังวลการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีความเข้มข้นมากขึ้น อาจส่งผลให้คุณภาพดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่รับประโยชน์ 7,900 ไร่ แยกการส่งน้ำเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกจะระบายลงลำน้ำเดิม เป็นการทดน้ำขึ้น 2 ฝั่ง มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 5,000 ไร่ อีกรูปแบบหนึ่งเป็นระบบท่อส่งน้ำ ขนาด 60 ซม.แยกเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา เป็นการลดการสูญเสียน้ำระหว่างทาง จะเหมาะกับภูมิประเทศของอ.พร้าว ซึ่งจะเป็นที่ลาดลงมา รองรับพื้นที่ทำกินของประชาชนประมาณ 2,000 ไร่เศษ นอกจากนี้ อ่างแม่แวนยังจะช่วยแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ใน 9 หมู่บ้านได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบอย่างครอบคลุมและคำนึงถึงผลที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอีกหลายด้าน เช่น เกิดเศรษฐกิจของชุมชน มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้นทำให้สามารถปลูกพืชได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อการรักษาสภาพนิเวศวิทยาของลำน้ำแม่แวน จะช่วยให้แหล่งน้ำมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะฤดูแล้งรวมทั้งการระบายน้ำเพื่อรักษาสมดุลนิเวศวิทยาทางน้ำด้านท้ายน้ำจะทำให้มีปริมาณน้ำด้านท้ายน้ำสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง