เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเภก

0
949

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

 

เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

พระมหาพิชัยมงกุฎ

เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดี ประดับเพชร สูง ๖๖ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗๓๐๐ กรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในรัชกาลที่ ๑ ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ ยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎ แทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี” เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๔ เซนติเมตร

พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และ นครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘

พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว ๖๔.๕ ซ.ม. ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว ๒๕.๔ ซ.ม. สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ ซ.ม. หนัก ๑๙๐๐ กรัม

 

ธารพระกร

เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า
“ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล”
ธารพระกรองค์ นี้สร้างขึ้นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แต่รัชกาลที่ ๑

 

พระวาลวิชนี

ของเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้
จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า “วาลวิชนี ”

 

ฉลองพระบาท

เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก ๖๕๐ กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย
ที่มา : https://phralan.in.th