พระมาโปรดชาวห้วยทม วอนกรมชลเร่งสร้างอ่าง

0
656

“คนห้วยทม รอมานานมาก กับอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนที่นี่ อาตมาขอบิณฑบาตญาติโยมขอให้การก่อสร้างดำเนินการจนแล้วเสร็จ”

เป็นคำพูดสั้นๆ ของพระมหาทินกร อิสสโร (ปธ.9) เจ้าคณะอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีชาติกำเนิดในหมู่บ้านที่ไม่ไกลจากพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทม ที่กรมชลประทานได้นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยทม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร

สอดคล้องกับคุณพ่อนิพล ศรีสมบัติ อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านน้อมเกล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่ได้เล่าที่มาที่ไปของอ่างเก็บน้ำห้วยทม

“ฝนตกมาน้ำหายหมด ไหลลงน้ำโขงไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ พอถึงตอนแล้งก็แห้งสุดๆ น้ำจึงเป็นหวังเดียวที่มีอยู่ จึงเป็นที่มาของการร่วมกันปรึกษาหารือของชาวบ้าน”

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการนี้ว่า พื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรและพื้นที่ข้างเคียง ประสบกับแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและมักได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย จึงได้มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับใช้อุปโภค-บริโภค และการเพาะปลูกพืชเกษตรกรรม ตลอดจนสัตว์เลี้ยงด้วย สำหรับพื้นที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากโครงการมีประมาณ 7,720 ไร่ โดยฝั่งขวาจะครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 17 บ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ส่วนฝั่งซ้ายครอบคลุมหมู่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านนาเจริญ และหมู่ที่ 12 บ้านคำเดือยกลาง ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

โดยปัจจุบันกรมชลประทานลงนามในสัญญามอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยทม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร โดย “เศวต คลายนาทร” ผู้จัดการโครงการ ระบุว่า พื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรและพื้นที่ข้างเคียง มีน้ำฝนโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 30 ปี ของพื้นที่มีปริมาณ 13 ล้านแต่การเก็บน้ำเท่ากับศูนย์คือไหลลงน้ำโขงหมดเมื่อมีอ่างเก็บน้ำจะทำให้กักเก็บน้ำได้ทั้งหมด ฉะนั้นโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมจะช่วยใช้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับอุปโภค-บริโภคของประชาชน ใช้ในการเพาะปลูกพืชเกษตรกรรม ตลอดจนสัตว์เลี้ยงด้วย

สำหรับพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการประมาณ 7,720 ไร่ ฝั่งขวาครอบคลุมหมู่บ้านหมู่ที่ 11

และหมู่ที่ 17 บ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ฝั่งซ้ายครอบคลุมหมู่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านนาเจริญ และหมู่ที่ 12 บ้านคำเดือยกลาง ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้ใหญ่ประสงค์ แดงบุตร ผู้ใหญ่บ้านน้อมเกล้า หนึ่งในราษฎรที่ทูลเกล้าขออ่างเก็บน้ำ เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะให้กรมชลประทานสร้างแหล่งน้ำให้กับชาวบ้าน ได้เล่าว่าฝนตกทุกปี น้ำดีแต่ไหลลงห้วยหมด พอหน้าแล้งชาวบ้านขาดน้ำอย่างหนัก จะขุดบ่อหรือเจาะบาดาลก็เจอตะกอนสนิม ทุกคนมีความหวัง “อ่างเก็บน้ำ” จะนำความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ เวลาไปดูพื้นที่ที่เขามีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มันจุกในอก แต่วันนี้ทุกคนเริ่มยิ้มและเฝ้ารอให้กรมชลประทานดำเนินการให้แล้วเสร็จ

อ่างเก็บน้ำห้วยทม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร แห่งนี้ มีความจุ 10 ล้านคิว นับเป็นเป็นความหวังของเกษตรกรที่นี่ ข้ามไปถึง อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ พื้นที่ต่อกัน

ซึ่งคุณสุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน บอกว่า ตอนนี้ผลศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ น่าจะเกิดได้เร็วสุดในปี 2566 ก่อสร้างอีก 3 ปีแล้วเสร็จ ส่งน้ำให้พื้นที่ 2 ตำบล 2 อำเภอและ 2 จังหวัด

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมมีพื้นที่ชลประทาน ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา เป็นเนินเขาสูงต่ำสลับกันเป็นลูกคลื่น ฉะนั้นการส่งน้ำให้แก่พื้นที่จึงออกแบบเป็นระบบท่อส่งน้ำ และพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย ที่สภาพค่อนข้างราบมีลำน้ำขนาบทั้งสองข้าง ซึ่งสามารถจะส่งน้ำด้วยระบบคลองหรือระบบท่อ และจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบแล้วพบว่า หากออกแบบเป็นคลองเปิดจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงตามแนวคลองค่อนข้างมาก จึงเสนอออกแบบเป็นระบบท่อส่งน้ำเพราะจะคุ้มค่ามากกว่า และสามารถวางท่อไปตามแนวถนนได้

ทั้งนี้ หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บริเวณบ้านน้อมเกล้า หมู่ที่ 11 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร องค์ประกอบของโครงการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,760 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่หัวงาน อ่างเก็บน้ำ ถนนเข้าโครงการ และแนวท่อส่งน้ำ พื้นที่เกือบทั้งหมดร้อยละ 97 อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว นอกจากนี้ยังอยู่ในเขตป่าเศรษฐกิจของป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบังอี่จำนวน 2 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 16 ไร่ และที่เหลืออีกประมาณ 21 ไร่ อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไม่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 แต่อย่างใด

ความต้องการอย่างแรงกล้าของเกษตรกรบ้านน้อมเกล้า ร่วมตำบลบุ่งค้าเดียวกัน ที่อยากได้อ่างเก็บน้ำห้วยทม บนความจุ 10 ล้านคิว แม้จะเดินตามหลังอ่างห้วยสะแบกไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ขอเพียงมีน้ำ พอจะลืมตาอ้าปากได้ ไม่ต้องขอข้าวใครกิน ..คนลุ่มน้ำห้วยทม จะไม่ต้องระทมอีกต่อไป