คณะกายภาพบำบัดฯ มหิดล เปิดบ้าน เสนอผลงานนวัตกรรมระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน

0
5021

คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานการนำเสนอผลงานของคณะกายภาพบำบัด : นวัตกรรมระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน (Faculty of Physical Therapy: Innovations at the Global Standards for Sustainability) ณ ห้อง Auditorium Room 300 ห้องประชุม ศ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน โดยมี รองศาสตราจารย์ดร. กภ. จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวรายงานการจัดงาน และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งทีมบริหาร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. กภ. ชุติมา ชลายนเดชะ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ. คมศักดิ์ สินสุรินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิตัล, กภ. (ชำนาญการพิเศษ) สุธิดา สกุลกรุณา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการสุขภาพ, อาจารย์ ดร. กภ. สุวีณา ค้าเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ มาร่วมเสนอผลงานในด้านต่างๆ ได้แก่ นวัตกรรมการศึกษาระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน นวัตกรรมงานวิจัยระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน นวัตกรรมงานบริการสุขภาพระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน และนวัตกรรมงานบริการวิชาการระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน

รศ.ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด: นวัตกรรมระดับมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทางคณะฯ มุ่งมั่นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของเอเชีย ด้านการศึกษา วิจัย นวัตกรรมและบริการสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน ด้วยการประยุกต์องค์ความรู้ผ่านงานวิจัย นวัตกรรม การบริการสุขภาพ สู่การเรียนการสอนและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเพื่อขยายประโยชน์สู่สังคม จากประสบการณ์การเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและความพร้อม คณะฯ ผลิตบัณฑิตสาขากายภาพบำบัดระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดคลินิก ปริญญาโทและปริญญาเอกระดับนานาชาติ รวมถึงการผลิตบัณฑิตสาขากิจกรรมบำบัดในระดับปริญญาตรี และมีแผนเปิดหลักสูตรปริญญาโท

นอกจากการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในวิชาชีพเพื่อเชื่อมโยงความรู้กลับสู่สังคม  คณะฯ ยังคงพัฒนาคุณภาพของทุกหลักสูตรจวบจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ 80% ของหลักสูตรทั้งหมดได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น World Physiotherapy, World Federation of Occupational Therapists (WFOT), ASEAN University Network Quality Assurance เป็นต้น นอกจากนี้หลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากลแล้วยังจัดระบบนิเวศการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและเน้น Outcome-based education ด้วย อีกทั้งคณะฯ ยังผลิตงานวิจัยคุณภาพสูง ตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติและผลิตนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ผ่าน Research and Innovation Center of Human Movement Science เป็นศูนย์วิจัยที่บ่มเพาะนักวิจัยคุณภาพโดยมีพี่เลี้ยง Visiting Professor และ เมธีวิจัย สร้างระบบนิเวศในการทำงานวิจัย

สำหรับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของคณะ มีการวางวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมมุ่งสู่ระดับสากล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองให้บรรลุวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของคณะคือ เพื่อความยั่งยืนของการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพระดับสากลจากความร่วมมือกับสหสาขาภายในประเทศและนักวิจัยต่างประเทศ

ส่วนงานบริการวิชาการนั้น คณะฯ จัดตั้งศูนย์บริการวิชาการซึ่งดำเนินการจัดโครงการประชุมวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากคณาจารย์สู่นักวิชาชีพและริเริ่มคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนสัญจรเพื่อปรับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ยังจัดอบรมคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนสัญจร หลักสูตรอบรมระยะสั้น (4 เดือน) สาขากายภาพบำบัดชุมชน หลักสูตรอบรมกายภาพบำบัดผู้สูงอายุในชุมชน และการบริการสุขภาพปฐมภูมิร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและสภากายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง การเกิดประโยชน์ร่วมกันและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน นักวิชาชีพกับคณะกายภาพบำบัด และการเกิดผลกระทบต่อสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นผลกระทบต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้คณะฯ มีการให้บริการด้านสุขภาพ ณ ศูนย์กายภาพบำบัด เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และศูนย์กายภาพบำบัด อาคารคณะกายภาพบำบัด ศาลายา เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษา การวิจัยและเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษาและนักศึกษาต่างชาติอย่างต่อเนื่อง มีการให้บริการแก่ประชาชนครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ดังนี้ กายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัดทางระบบประสาท กายภาพบำบัดทางเด็ก และกิจกรรมบำบัด

นอกจากนี้ คณะฯ ได้พัฒนาคลินิกเฉพาะทางโดยคณาจารย์และนักวิชาชีพผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ตอบสนองตามความต้องการของสังคมผู้สูงอายุและพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี เช่น คลินิกผู้สูงอายุ คลินิกกายภาพบำบัดร่วมกับการกระตุ้นสมอง Transcranial Magnetic Stimulation คลินิกกายภาพบำบัดทางกีฬา คลินิกกระดูกสันหลังคด คลินิกสุขภาพหญิง คลินิกวอยตา คลินิกโรคเวียนศีรษะและบ้านหมุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนบูรณาการความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยและการบริการวิชาการจนนำไปสู่การเกิดคลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะทางอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรับบริการทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด คณะฯ ริเริ่มการให้บริการทางไกลร่วมกับโปรแกรมท่าออกกำลังกายแบบเฉพาะบุคคลและคำแนะนำในการดูแลตนเอง ผ่าน HealthcaRe Tele-delivery Service (HeaRTS) และพัฒนาต่อยอดในการให้บริการกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดเยี่ยมบ้าน รวมถึงการให้บริการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมและป้องกันการเกิดอาการบาดเจ็บจากการทำงานในองค์กรต่าง ๆ สำหรับกรณีที่ผู้รับบริการไม่สะดวกเดินทางเข้ารับการรักษาที่ศูนย์ฯ เพื่อมุ่งสู่ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการสร้างนวัตกรรมตามมาตรฐานสากลนี้เดินทางสู่ความสำเร็จได้ด้วยพลังความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยให้บริการภายใต้สโลแกน “กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล และเยี่ยมบ้าน ดูแลอย่างมืออาชีพ ด้วยใจ ทุกที่ ทุกเวลาออกแบบมาเฉพาะคุณ” ตามหลัก SDG 17 เพื่อสร้างสรรค์การศึกษาที่มีคุณภาพสูงและเท่าเทียมเข้าถึงง่าย (SDG 4) สร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน (SDG3) และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันผ่านการวางโครงสร้างและระบบสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายและเชิงพาณิชย์ (SDG9) เพื่อความยั่งยืนของคณะฯ ต่อไป