รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2563

0
1396

สถานการณ์ ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.

1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 47 ราย

2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 4 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,895 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 128 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,767 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,319 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,576 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 80 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 5 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 94,380 ราย เสียชีวิต 3,221 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,282 ราย เสียชีวิต 2,981 ราย

2.สธ.พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 4 ราย จากอิตาลีและอิหร่าน

กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 4 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศอิตาลี 2 รายและอิหร่าน 2 ราย ขอความร่วมมือคนไทยตระหนัก ไม่ตระหนก ก้าวผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการมีสำนึกต่อสังคม และสังคมสมานฉันท์

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ในวันนี้ได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 4 ราย รายที่ 1 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 1 มีนาคม 2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ด้วยอาการ ไข้ ไอ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลชลบุรี รายที่ 2 เป็นชายชาวไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 2 มีนาคม 2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ด้วยอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ ทั้ง 2 รายนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

รายที่ 3 ชายชาวจีนอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาจากประเทศอิหร่านเพื่อต่อเครื่อง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิตรวจพบ ไข้ ไอ น้ำมูก ในระหว่างการต่อเครื่อง จึงส่งรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 4 ชายชาวไทย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางกลับมาจากประเทศอิหร่าน เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก

โดยสรุปวันนี้ มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 47 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสถานที่เพื่อเตรียมการจัดให้เป็น “พื้นที่ควบคุมโรค” รองรับผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ และเตรียมชุดปฏิบัติการในพื้นที่ควบคุมโรคทุกแห่งนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำหลักเกณฑ์ลักษณะสถานที่กักกัน (สถานที่ หรือ พื้นที่ควบคุมโรค) รองรับข้อสั่งการฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยหลักเกณฑ์นี้ประกอบไปด้วย การจัดสถานที่ การรักษาความปลอดภัย ห้องครัว ห้องพยาบาล ระบบจัดการขยะ สถานที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลในแต่ละวัน

ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคต่อเนื่อง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กักกันตนเองอยู่ที่บ้าน / ที่พัก เป็นเวลา 14 วัน งดกิจกรรมทางสังคม ไม่ไปอยู่ในที่คนหนาแน่น หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยให้ประเทศไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง

ในส่วนประชาชนทั่วไป ขออย่าได้รังเกียจผู้ป่วยหรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค โรคนี้ป้องกันได้ ด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องไปในที่ที่มีคนหนาแน่น ขอให้ตระหนัก ไม่ตระหนก เพื่อสังคมสมานฉันท์

3. คำแนะนำสำหรับประชาชน

3.1 ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

3.2 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิตการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย

3.3 ประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค เวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข