ช่วงเทศกาลวันเด็ก หลายคนเคยเลือกที่จะนำสิ่งของ เครื่องใช้ ชุดนักเรียน แบบเรียน อุปกรณ์การเรียน ข้าวสารอาหารแห้ง ไปมอบให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยเฉพาะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กที่ถือเป็นการส่งมอบกำลังใจ และสร้างรอยยิ้มให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำให้รูปแบบของการจัดงานวันเด็กจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งรูปแบบและวิธีการ ซึ่งเชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกคนต่างมีความหวังต่อการให้จากผู้ใหญ่ทุกคนเช่นเคย
วันนี้เราได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคมที่ออกมาช่วยกันลดช่องว่างทางการศึกษาสำหรับนักเรียนทั้งในเมืองและพื้นที่ห่างไกล แต่นอกจาก “ของขวัญ” ที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์การเรียนแล้ว “คุณภาพการศึกษา” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนอยากได้เป็นของขวัญในวันเด็ก ไม่แพ้ข้าวของเครื่องใช้ แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่เขาจะจับต้องหรือนำไปใช้ได้ในทันทีทันใด แต่วิชาความรู้ที่เกิดขึ้นจากคุณภาพการศึกษาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัว มีประโยชน์และยั่งยืนสำหรับพวกเขาต่อไปในอนาคต
ด้วยหัวใจที่ทุ่มเท แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน รวมทั้งบุคลากรที่มาทำหน้าที่ครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หลายคนไม่ได้จบครูมาโดยตรง และมีภารกิจหลายด้านที่ต้องรับผิดชอบ จนอาจเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ในห้องเรียนของเด็ก ๆ
นำการศึกษาที่มีคุณภาพ ไปสู่ 50 โรงเรียน 15 จังหวัดชายแดนห่างไกล “เพราะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนนั้นหยุดไม่ได้”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ. ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สนับสนุน การพัฒนาสมรรถนะครูสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็ก ที่เหมาะสมตามช่วงวัย ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนำร่อง 50 โรงเรียน ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เลย อุดรธานี บึงกาฬ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก สงขลา ตรัง สตูล และพัทลุง ซึ่งจะมีคุณครูได้รับการพัฒนา รวม 485 คน และมีนักเรียนได้รับประโยชน์ระยะต้น 5,335 คน โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินงานในปีการศึกษา 2563 และจะสามารถขยายผลไปยังนักเรียนรุ่นอื่นๆ ได้อีกต่อไป
“ที่ผ่านมาการทำงานในระดับพื้นที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 ฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมและลงตัวจนเป็นโมเดลการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้อีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทีมโค้ชในพื้นที่ และนายตำรวจนิเทศ ตชด. โดยได้เข้าไปสำรวจความต้องการจำเป็นของครูใหญ่ ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในโรงเรียน ตชด. นำร่อง ทั้ง 50 โรงเรียน ว่ามีความต้องการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องใด จากนั้นจึงนำโจทย์การพัฒนาผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของทุกฝ่าย ไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียน ตชด. โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการจากภาระงานที่ปฏิบัติโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน” นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน ตชด. ของประเทศไทยที่สามารถต่อยอดจากฐานการทำงานเดิมที่มีอยู่แล้วได้อย่างลงตัว
พัฒนาจากโจทย์จริงของแต่ละโรงเรียน ไม่ดึงครูออกจากพื้นที่มาอบรมด้วยวิธีเดิมๆ
ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้จัดการโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร กสศ. กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการดำเนินงานโครงการ คือ ไม่ต้องการ
ดึงครูออกมาจากพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียน ตชด. ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การเดินทางออกมา
แต่ละครั้งย่อมสร้างความไม่สะดวกให้กับคุณครู และยังต้องใช้เวลานาน จนอาจส่งผลกระทบไปถึงการเรียนการสอนของนักเรียน ดังนั้น คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทีมโค้ชในพื้นที่ และนายตำรวจนิเทศ ตชด.
จึงเป็นผู้เข้าไปจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะครูในโรงเรียน ตชด. นำร่อง 50 แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายที่ครู นักเรียน และชุมชนได้ร่วมกันสะท้อนความต้องการ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์
ในแง่ของการพัฒนาสมรรถนะของครู ตชด. ในการจัดการเรียนรู้เพื่อศิษย์แล้ว ยังทำให้ผู้จัดกิจกรรมการพัฒนา
ได้เข้าใจบริบท สภาพปัญหา และข้อจำกัดของโรงเรียน ตชด. จนนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและช่วยเหลือ
ในมิติอื่นๆ ที่ได้พบเห็นจากสภาพจริง
“ความต้องการในการพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนนำร่อง 50 แห่ง ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ต้องการให้พัฒนาทักษะภาษาไทยและการอ่านออกเขียนได้ เพราะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตแนวชายแดน นักเรียนจำนวนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ทำให้มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้จำนวนมาก โดยภายหลังจากการไปจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะครู เพื่อให้ครูไปจัดกระบวนการเรียนรู้
สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน พบว่า ในหลายโรงเรียนสามารถเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน”
ร่วมกันออกแบบ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง แก้ปมปัญหาถูกจุด
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง
จ.ราชบุรี เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ที่เด็กๆ สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มมากขึ้น ดร.นิตยา เรืองมาก รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ได้เข้าไปช่วยจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะภาษาไทย เริ่มต้นจากการเข้าไปคุย สำรวจความต้องการ และทำ SWOT ทั้งกลุ่มโรงเรียนและศิษย์เก่าว่า อยากให้พัฒนาอะไรมากที่สุด ซึ่งสองกลุ่มพูดตรงกันว่าอยากให้พัฒนาการอ่านออกเขียนได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์
จากนั้นทางคณาจารย์จึงได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อการอ่านออกเขียนได้ ให้กับครู ตชด. ในโรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง 12 คน และโรงเรียน ตชด.บ้าน
ถ้ำหิน อีก 14 คน โดยใช้โมเดลการอ่านออกเขียนได้ของ อ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ซึ่งก่อนจัดกิจกรรมการพัฒนา
จะจัดการทดสอบนักเรียนทั้งการอ่านออกเสียง การเขียนตามคำบอกและดูผล ก่อนจะออกแบบฝึกว่าครูจะต้องสอนอะไรบ้าง ในแต่ละครั้งจะต้องทำอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ตัวโมเดลการสอนจะมีครบทั้ง หลักสูตร นวัตกรรม
สื่อการสอน
ในช่วงของการเข้าไปจัดกิจกรรม คุณครูจะได้พัฒนาศักยภาพทั้งรูปแบบ วิธีการสอน ไปจนถึงเทคนิคการสอน เช่น การยืนหน้าชั้นเรียน การใช้ตัวอักษร การทำสื่อให้เกิดความน่าสนใจ แม้แต่วิธีการเขียนกระดานของคุณครูที่จะส่งผลต่อเด็กเวลาให้เด็กเขียนตามที่คุณครูเขียน ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ในวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ได้ด้วย จากนั้นจึงให้คุณครูได้นำสิ่งที่ได้ไปจัดการสอนให้เด็กจริง
“ตรงนี้ช่วยครูได้มากเพราะเข้าใจว่าครู ตชด. จำนวนมากไม่ได้จบครูมาโดยตรง เราจึงเข้าไปช่วยพัฒนาการสอนให้ดีขึ้นได้ สร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น บางทีเกิดปัญหาเมื่อไปนิเทศก็ช่วยแก้ปัญหาจากของจริง ซึ่งสุดท้ายก็สามารถเกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เด็กอ่านออกเขียนได้ กล้าพูดมากขึ้น จากแต่ก่อนพูดไม่ชัด ไม่กล้าพูดเพราะกลัวโดนเพื่อนล้อ จนได้ฝึกแล้วทำให้เกิดการพัฒนา ครูเองได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันด้วย”ดร.นิตยา กล่าว
โค้ชถูกจุด ก็เปลี่ยนได้ทันที ครูและเด็กๆ ตชด. ไม่กลัวภาษาอังกฤษอีกแล้ว
อีกกิจกรรมที่เห็นผลความสำเร็จชัดเจน คือ การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ ซี่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ไปจัดกิจกรรมพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษให้กับ 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้าน
คำชมภู จังหวัดบึงกาฬ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเวียงงาม จังหวัดอุดรธานี โดย ดร.ปุณรัตน์ พิพิธกุล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า จากการสำรวจ 10 โรงเรียนที่รับผิดชอบ
ได้ข้อสรุปโดยจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ 2 โรงเรียน และการอ่านออกเขียนได้อีก 8 โรงเรียน
การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้เน้นการเรียนรู้แบบประยุกต์เข้ากับ Farm School หรือใช้โรงเรียนเป็นฐาน ออกแบบการเรียนการสอนจากสิ่งที่โรงเรียนมี โดยใช้กระบวนการไปจัดกิจกรรมพัฒนาครูที่โรงเรียนในแต่ละด้าน รวมทั้งการผลิตสื่อการสอน ปรับวิธีการสอน การเขียนแผนการสอน เน้นไปที่การใช้แหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชน และการประเมินผลผู้เรียน
สำหรับการจัดกิจกรรม 3 วัน จะเริ่มจาก โฟนิคส์ (Phonics) หรือการฝึกออกเสียงที่มีงานวิจัยระบุว่า โรงเรียนที่ใช้วิธีนี้จะได้ผลมากกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ถึงสามเท่า จากนั้นจึงมาต่อที่การสอนภาษาอังกฤษโดยบูรณาการกับ Farm School ใช้สิ่งรอบตัวมาเป็นบทเรียน กิจกรรม ให้กล้าใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีกิจกรรมที่สลับสับเปลี่ยนไป เช่น เช็คอินความรู้สึก ปิดตาทายกลิ่นผลไม้ เมื่อได้คำศัพท์ ก็ขยับไปเป็นวลีและประโยค รวมทั้งนำเกมมาประยุกต์ใช้ เช่น ทำแผนที่โรงเรียน ซี่งจะได้ทักษะการบอกทิศทาง การอธิบายรายละเอียด
ทั้งหมดต้องเริ่มไปสร้างความมั่นใจให้คุณครูว่า อย่ากลัวภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษเริ่มได้จากสิ่งรอบตัวที่เขามี เมื่อครบเดือนที่คุณครูเริ่มปรับวิธีการสอนแล้วต้องไปนิเทศ จะพบว่า เด็กรู้สึกว่าภาษาอังกฤษไม่น่ากลัว คำศัพท์เขาอาจไม่รู้ทั้งหมด หรือตัวอักษรบางตัวอาจยากสำหรับเขา แต่ก็มีบางตัวที่เขาจำได้ เขากล้าที่จะลองมากขึ้น กล้าเล่นเกมไม่กลัวที่จะผิด กล้าผสมคำ ครูเองก็มีความสุข สนุกไปกับเด็ก จนไปค้นหาเกมจากในอินเตอร์เน็ตมาสอนเพิ่ม
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับทั้งตัวคุณครูและนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซี่งยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จาก 50 โรงเรียนนำร่องทั่วประทศ เพื่อนำการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ถึงเด็กทุกคนอย่างเสมอภาค