(12 เมษายน 2568) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและติดตามสถานการณ์ความปลอดภัย เตรียมความพร้อมการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า วันนี้นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและติดตามสถานการณ์ความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อยู่ ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมและติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายในศูนย์บัญชาการแห่งนี้ ได้ติดตั้งระบบควบคุมสั่งการแบบเรียลไทม์ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลจากกล้อง CCTV ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะจุดจัดงานขนาดใหญ่ เช่น ถนนข้าวสาร สีลม สนามหลวง และพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ความเคลื่อนไหว และสามารถสั่งการตอบโต้เหตุการณ์ได้ทันที
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ศูนย์บัญชาการ ยังมีการแสดงผล Dashboard สถิติเชิงลึก รายงานจุดเสี่ยงและการเฝ้าระวังในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ระบบ Dashboard ถือเป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถมอนิเตอร์และประเมินสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบจะนำข้อมูลที่ได้จากกล้อง CCTV เซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว และอุปกรณ์ตรวจวัดความหนาแน่นของฝูงชน มาประมวลผล ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุการณ์ผิดปกติได้ทันที
สำหรับงานเทศกาลงานสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังความร่วมมือทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง โดยสำนักงานเขต 50 เขต ได้ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดมาตรการและบูรณาการกับทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสาธารณภัย ตลอดจนการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย 43 จุด , จัดกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนเจ้าพนักงานจราจร ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน , เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุประสานงานและทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล , จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของ กทม. ตลอด 24 ชม. , ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว , กองโรงงานช่างกล เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนกรณีเหตุฉุกเฉิน, จัดชุดเจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ , จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์การจัดงาน หรือกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดเป็นระบบการทำงานแบบเรียลไทม์ เชื่อมโยงข้อมูลและการสื่อสารผ่านศูนย์บัญชาการหลัก ที่สามารถติดต่อหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ ได้โดยทันที เมื่อเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร บริเวณจุดเล่นน้ำขนาดใหญ่อีกหนึ่งจุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลต์สายสนุกของเทศกาลปีนี้ กับงาน Khao San World Water Festival 2025 จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายน 2568 เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำอย่างปลอดภัย
โดยพล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า ปีนี้ได้มีการนำร่องใช้เทคโนโลยี AI กับกล้อง CCTV สร้างระบบช่วยดูแลความปลอดภัย พร้อมการจัดวางกล้อง CCTV อย่างรัดกุมรอบพื้นที่งาน ซึ่งเทคโนโลยี AI จะช่วยเรื่อง ระบบอ่านและบันทึกป้ายทะเบียน ระบบจดจำใบหน้า ระบบวิเคราะห์ความหนาแน่นของฝูงชนบนถนนข้าวสาร จำนวน 4 กล้อง ระบบนับจำนวนคน ใช้ร่วมกันกับระบบจดจำใบหน้าที่จุดคัดกรอง ระบบค้นหาลักษณะของบุคคลหรือสิ่งของ และจัดหากล้องติดตามตัว ซึ่งระบบ AI นี้ จะตรวจจับใบหน้าเพื่อป้องปรามอาชญากร , จัดการพื้นที่เข้า–ออกงาน และตรวจสอบความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีการจัดเจ้าหน้าที่และหน่วยซ่อมบำรุงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินได้ทันที
“นอกจากแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าวแล้ว กรุงเทพมหานครยังวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถร่วมสืบสานประเพณีปีใหม่ไทยได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัยภายใต้นโยบาย“สงกรานต์สร้างสรรค์เล่นน้ำอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการ 5 ป.” ที่ถือเป็นกรอบแนวทางสำคัญในการควบคุมดูแลพื้นที่จัดงาน และส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมของประชาชน ประกอบด้วย 1. ปลอดปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ ห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงหรือขนาดใหญ่ในพื้นที่จัดงานและพื้นที่สาธารณะ เพื่อลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากแรงดันน้ำ 2. ปลอดแอลกอฮอล์ งดเว้นการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่จัดกิจกรรม โดยเฉพาะในจุดที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกวัย 3. ปลอดโป๊ ขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวแต่งกายให้เหมาะสม งดเว้นการแต่งกายล่อแหลมหรือไม่สุภาพในที่สาธารณะ เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันงดงามของประเพณีสงกรานต์ 4. ปลอดแป้ง ห้ามพกพาหรือใช้แป้งทาตัวและแป้งเปียกในการละเล่นสงกรานต์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการแพ้ ผื่นคัน หรือปัญหาในกลุ่มผู้มีโรคผิวหนัง รวมถึงการปะปนของสิ่งสกปรกในพื้นที่ชุมนุม และสุดท้าย 5. ประหยัดน้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเหมาะสมในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำเล่นกันเป็นจำนวนมาก เช่น ถนนข้าวสาร ถนนสีลม และสามย่านมิตรทาวน์ โดยกำหนดจุดให้บริการน้ำสะอาดและเน้นการใช้น้ำหมุนเวียน โดยมาตรการ 5 ป. นี้จะถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร สถานีตำรวจในพื้นที่ และหน่วยงานสนับสนุนร่วมตรวจสอบตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ปลอดภัย และยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง” พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าว
กรุงเทพมหานคร จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์ 2568 อย่างมีความสุข ปลอดภัย และเคารพประเพณีไทย โดยขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การจัดงานสงกรานต์ในปีนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นเทศกาลแห่งรอยยิ้ม ความอบอุ่น และความประทับใจของทุกคนอย่างแท้จริง