เอ็นไอเอ ร่วมทีเซลส์ และเครือโรงพยาบาลพญาไท – เปาโล ลุยเดินหน้าระบบ “ฐานข้อมูลผู้ป่วย

0
804

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และโรงพยาบาลในเครือพญาไท-เปาโล ขับเคลื่อนแผนพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation district : YMID) ตั้งเป้ายกระดับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีให้เป็นย่านการแพทย์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้เกิดศักยภาพการให้บริการที่มีนวัตกรรมของโรงพยาบาลในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี 2) การร่วมกันพัฒนา DeepTech Startup ด้านชีวการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ 3) การร่วมสร้างองค์กรนวัตกรรม และ 4) การร่วมมือพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี นอกจากนี้ ทีเซลส์ยังจะมีการสนับสนุนการทำบิ๊กดาต้า เกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ ข้อมูลการแพ้ยา และข้อมูลสุขภาพ เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ทางด้านเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล จะนำองค์ความรู้และความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ บุคลากรชั้นนำมาช่วยสนับสนุนงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ได้ลงนามความร่วมมือกับ TCELS และ เครือโรงพยาบาลพญาไท – เปาโล เพื่อยกระดับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี  ให้เป็นย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีโรงพยาบาลในเครือเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาย่านนวัตกรรมโยธี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากร ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการวิจัยและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานและสร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งทัดเทียมกับการแข่งขันระดับโลก โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

  • การส่งเสริมให้เกิดศักยภาพการในการบริการที่มีนวัตกรรมของโรงพยาบาลภายในย่านโยธีจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านการวิจัย และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
  • การร่วมกันพัฒนา DeepTech Startup ทางด้านชีวการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูล(DATA) ซึ่งทั้งปัจจุบันและในอนาคต นวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการการแพทย์
  • การร่วมสร้างองค์กรนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านการดึงเอาสตาร์ทอัพ กลุ่มวิจัยต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างให้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีเป็นย่านนวัตกรรมที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • การร่วมมือพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ด้วยการผลักดันให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ นักวิจัย รวมถึงธุรกิจเอกชน ซึ่งจะช่วยให้มีการเรียนรูปแบบการทำงาน รูปแบบธุรกิจ (Business Model) และแนวคิดต่าง ๆ ระหว่างกัน ส่งผลให้การทำงานเกิดการนำสิ่งแปลกใหม่มาประยุกต์ และเกิดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนการดำเนินงานพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 5 ปีแรก จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับมาตรการและนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ระยะ 10 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพให้กับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และทดลองนวัตกรรม และการสร้างโครงข่ายสัญจรเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และระยะ 20 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพรองรับและสนับสนุน ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นหลังจากการร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานคือ การเชื่อมโยงข้อมูลของโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี และการรวบรวมข้อมูลในด้านการรักษาสุขภาพ (Health Care ) ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ เช่น ข้อมูลการแพ้ยา หรือข้อมูลสุขภาพต่างๆ เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยทำได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้งาน ซึ่งในอนาคตนวัตกรรมด้านสุขภาพจะมีบทบาท และมีแนวโน้มการเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทีเซลส์พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในย่านโยธีให้มีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นที่ที่ครบครันสำหรับให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยใหม่ ๆ เพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การพัฒนาระบบ AI ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรยาแผนโบราณ รวมถึงงานวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์แม่นยำบนฐานของรหัสพันธุกรรมมนุษย์ หรือ Genomics ทั้งนี้ เชื่อว่าหากภาคเอกชนมีความเข้มแข็งก็จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศเติบโตและยั่งยืน และส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่ผู้บริโภคในลำดับต่อไป

ด้าน นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติถึงคุณภาพการจัดการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และมีข้อได้เปรียบจากอัตราค่าบริการรักษาพยาบาลเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานยังถือว่าถูกกว่าประเทศอื่นมาก อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนการเติบโตของการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จึงทำให้ผู้ป่วยชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารักษาตัวในประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างของทั้ง 3 ภาคีนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สถาบันและหน่วยงานทางการแพทย์และสุขภาพของภาคเอกชนและภาครัฐจะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนวงการแพทย์และสุขภาพ ภายใน“ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาและการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพต้นแบบของประเทศ และเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล จะมีบทบาทสำคัญในการเตรียมนำองค์ความรู้และความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ บุคลากรชั้นนำ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนนักวิจัย และยกระดับขีดความสามารถบุคลากรสู่ความเป็นนวัตกรชั้นนำทางด้านพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยเตรียมสร้างหลักสูตรในเรื่องของ Medical Knowledge เพื่อพัฒนาและผลิตนวัตกรคุณภาพสู่วงการแพทย์ไทย ที่มีศักยภาพการแข่งขันรองรับการก้าวสู่การเป็นผู้นำทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand

###

nia #yothi #innovation #ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี #สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #JCCOTH