กรมศิลปากร จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิชาการ ประจำปี ๒๕๖๒

0
883

 

 

 

สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ นำเสนอผลงานวิชาการของกรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๖๒ โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนากว่า ๒๐๐ คน

กรมศิลปากรจัดการสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ นำเสนอผลงานวิชาการของกรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ เพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษา ค้นคว้า วิจัยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัด ทั้งด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณคดี โบราณสถาน ภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นาฏดุริยางศิลป์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม

โดยแบ่งการบรรยายออกเป็น ๒ ห้อง ได้แก่ ห้องประชุมใหญ่ และห้องดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการมากกว่า ๔๐ เรื่อง เช่น ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองในประวัติศาสตร์ไทย, แหล่งเตาวัดนางเลิ้งเตาเผาภาชนะพบใหม่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา,วงดินปริศนาแห่งดอยวงศ์, การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสำรวจปราสาทหินพิมาย, โหมโรงคืออะไร ? ในดนตรีไทยและดนตรีสากล, การจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย, อิศปปกรณัม : วรรณกรรมแปลจากตะวันตกยุคแรกของไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการถ่ายทอดทักษะความรู้ให้กับนักวิชาการและประชาชนที่สนใจแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ สืบทอด สร้างสรรค์ และเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรม โดยหวังว่า องค์ความรู้จากการสัมมนาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้

การสัมมนาวิจัย วิจักขณ์ เป็นโครงการที่กรมศิลปากรจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสนับสนุนให้นักวิชาการของกรมศิลปากรได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์ วิจัย ทั้งวิทยาการใหม่ ๆ และวิทยาการที่ต่อเนื่องในเชิงลึก นำไปพัฒนาการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้แพร่กระจายสู่ทุกภาคส่วนของสังคม อันจะส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจ ตระหนักในคุณค่าและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น

ผู้สนใจที่ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนา สามารถรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสด facebook live ผ่านเพจ “กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม” และเพจ “กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร” ได้ตลอดการเสวนา