“สมศักดิ์” แถลงข่าวจัดงาน”มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” 3-7 ก.ค.67 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

0
219

“สมศักดิ์” แถลงข่าวจัดงาน”มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” 3-7 ก.ค.67 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชี้ ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำลังโต คาดจาก 52,000 ล้านบาท จะกระโดดเป็น 104,000 ล้านบาท ปลื้ม มีมูลค่าค้าปลีกสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน เตรียมให้ สปสช. ใช้ยาสมุนไพรไทยมากขึ้น หลังยอมรับแล้ว 28 รายการ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 The 21th Thailand Herbal Expo 2024 ภายใต้รูปแบบการจัดงาน“นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายจิรพงษ์​ ทร​งวัชราภรณ์​ รอง​โฆษก​กระทรวง​สาธารณสุข​ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายที่ร่วมจัดงาน เข้าร่วม ที่กระทรวงสาธารณสุข

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ Medical and Wellness Hub ที่มุ่งยกระดับ ไม่เพียงแต่การให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป แต่ยังหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีศักยภาพ ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยปัจจุบัน สมุนไพรเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจาก ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย มีมูลค่าค้าปลีกสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก

“แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 คาดการณ์ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย จะมีมูลค่าเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า จากที่มีมูลค่าราว 52,000 ล้านบาท จะเติบโตเป็น 104,000 ล้านบาท ในปี 2570 เพราะทัศนคติและค่านิยมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถสร้างรายได้กว่า 2,467 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนกว่า 17,300 รายการ และได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ กว่า 2,000 รายการ รวมถึงมีการขยายผลการปลูกสมุนไพรต้นน้ำ จาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกร เข้าถึงการปลูกสมุนไพรได้มากขึ้น จากเดิม 5,400 ราย เป็นกว่า 360,000 ราย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังมีโรงงานภาคเอกชน ที่ผลิตยาสมุนไพร 1,000 แห่ง มีโรงงานสกัด 11 แห่ง และมีโรงพยาบาลที่สามารถผลิตสมุนไพร ที่ได้รับมาตรฐาน GMP 46 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร ในหน่วยบริการสุขภาพทั่วประเทศ มีมูลค่าเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 พันล้านบาท และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ รวมกว่า 56,944 ล้านบาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา ส่วนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก็มีการพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน จำนวน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออก กว่า 6,604 ล้านบาท มีการลงทุน เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร เพิ่มขึ้นเป็น 3,631 ล้านบาท จำนวน กว่า 1,295 โครงการ โดยการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสมุนไพร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตนคาดว่า จะมีเงินสะพัดตลอดทั้ง 5 วัน กว่า 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมวันนี้ ทำให้ได้เห็นว่า เรามีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา และสมุนไพรใหม่จำนวนมาก โดยมีการขึ้นทะเบียนกับ อย. 17,300 รายการ และขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับการใช้ยาสมุนไพรไทย 28 รายการ แต่ตนได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะผลักดันให้มีการใช้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้ สปสช. มีการใช้ยาเคมี กว่า 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ถ้าแบ่งตลาดมาใช้ยาสมุนไพรไทย ตนก็มองว่า โอกาสสมุนไพรไทย จะโตได้มากกว่าที่ประเมิน 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงวันนี้ ตนรู้สึกดีใจ ที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์กระท่อม เป็นหมากฝรั่งแล้ว โดยหมากฝรั่งกระท่อม 5 เม็ด เท่ากับ สารไมทราไจนีน 0.2 มิลลิกรัม แต่ถ้ามาตรฐานกลางเปลี่ยน ก็สามารถเพิ่มสารไมทราไจนีน ให้มีความเข้มข้นได้อีก โดยตนเห็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ก็รู้สึกดีใจ ที่สามารถพัฒนาไปอย่างหลากหลาย และเหมาะกับการส่งออกต่างประเทศด้วย