สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องด้าน การพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อรับฟังแนวคิดและสรุปการดำเนินงานนำไปสู่การขยายผลการพัฒนาการท่องเที่ยว วิถีคลองในประเทศไทย ภายใต้ “โครงการวิจัยการศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยววิถีคลองในประเทศไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประธานการประชุม กล่าวว่า “การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และเป็นการวิจัยต่อยอดการท่องเที่ยววิถีคลองในพื้นที่นำร่องของประเทศไทย ซึ่งเป็นดำริของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของลำคลองและวิถีชีวิตผู้คน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยววิถีคลองและ
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิต รวมทั้งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย”
โอกาสนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. ให้ข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ 2563 สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ (บพข.) กว่า 3,700 ล้านบาท โดย บพข. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 325 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ในปี 2564 ยังมีแผนการจัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยในประเด็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงมรดกทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรมนอกเหนือจากประเด็นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้งานวิจัยเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ โดยใช้การเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญ
ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ททท. ได้มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งใน 3 ระดับ ได้แก่
1) การสร้างองค์ความรู้ 2) สร้างการตลาด และ 3) สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้การบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ ที่จะนำไปหนุนเสริมการท่องเที่ยวชุมชนของประเทศไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปส่วนหนึ่งว่า ชุมชน เครือข่าย ทรัพยากร และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีคลอง โดยต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการสร้างมูลค่าเพิ่มควรจะมีขึ้นทั้งในตัวสินค้าที่จำหน่ายในพื้นที่ ที่พัก และอาหาร ภายใต้หมุดหมายสำคัญคือให้ประชาชนในชุมชนวิถีคลองได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาการท่องเที่ยวครั้งนี้