ชลประทาน เดินหน้าศึกษาการปรับปรุง ฝายชะมวง สงขลา อัพเกรดแหล่งกักเก็บน้ำ

0
1219

 

กรมชลฯ เดินหน้าศึกษาปรับปรุงฝายชะมวง สงขลา อัพเกรดแหล่งกักเก็บน้ำ เป็น 22 ล้าน ลบ.ม. หนุนช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ฝายชะมวง 17,000 ไร่ เตรียมแผนหลากแนวทางปรับปรุงระบบ-ก่อสร้างโครงสร้าง-เสริมความสะดวกประชาชน


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวว่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในบริเวณพื้นที่บางส่วนในเขต อ.รัตภูมิ และ อ.ควนเนียง จ.สงขลา รวมทั้งเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคของประชาชนและสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงบรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ กรมชลประทานจึงได้เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมโครงการปรับปรุงฝายชะมวง จังหวัดสงขลา
จากการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าหลังการปรับปรุงเสร็จสิ้น จะเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อด้านการเกษตรกรรม รวมถึงอุปโภคบริโภค ความจุประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่ฝายชะมวงประมาณ 17,000 ไร่ เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในคลองส่งน้ำ ความจุประมาณ 1.75 ล้าน ลบ.ม.เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ฝั่งขวาประมาณ 3,430 ไร่


“แนวทางการปรับปรุงโครงการดังกล่าว ยังลดการรั่วซึมของน้ำ และการกระจายน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่ ตลอดจนการบริหารน้ำมีความยืดหยุ่น น่าเชื่อถือ ผ่านการใช้เทคโนโลยี ทดแทนอัตราเจ้าหน้าที่ที่มีไม่เพียงพอ บรรเทาพื้นที่น้ำท่วมขัง อำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ไปจนถึงมีแนวทางพัฒนาภูมิทัศน์ให้เป็นที่ท่องเที่ยวและที่ออกกำลังกาย” นายเฉลิมเกียติกล่าว


โดยฝายชะมวงจังหวัดสงขลานั้น เดิมทีมีลักษณะเป็นฝายคอนกรีตแบบ OGEE WIER ยาว 30 เมตร.สูง 3 เมตร ปริมาณน้ำ 90 ลบ.ม./วินาที และมีระดับสันฝาย +33.20 ม.รทก. มีคลองแยกย่อย 6 คลอง ความยาวรวม 75.417 กม. พื้นที่โครงการรวม 110,154 ไร่ และมีพื้นที่ชลประทาน 87,176 ไร่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประตูระบายน้ำคลองรัตภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีพื้นที่โครงการ 13,312 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 12,341 ไร่
นายเฉลิมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่าการปรับปรุงฝายชะมวงนั้น แบ่งได้เป็นหลายแนวทางหลัก เพื่อตอบสนองภารกิจของกรมชลประทานในการจัดการน้ำ ได้แก่

1.การปรับปรุงโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง จำแนกเป็น การปรับปรุงด้านการบริหารจัดการน้ำ การตั้งโครงการส่งน้ำ และบํารุงรักษา (โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาคลองภูมี-รัตภูมิ) การจ้างเหมาบํารุงรักษา การปรับปรุงโครงการด้านเกษตรและการใช้ที่ดิน ผ่านการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การผลิตการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) การส่งเสริมด้านการแปรรูป และการตลาดแบบมีข้อตกลงล่วงหน้า (Contract Farming) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงด้านองค์กรของโครงการ ผ่านการการปรับปรุงองค์กรเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ และการปรับโครงสร้างองค์กรระดับสนามให้สัมพันธ์กับพื้นที่ เป็นต้น รวมไปถึงการระบบบริหารจัดการน้ำของโครงการผ่านการใช้กล้อง CCTV

2. การปรับปรุงโดยใช้สิ่งก่อสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำขัน ตั้งอยู่ที่ บ้านคลองหิน ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มีความจุที่ระดับเก็บกัก 16.5 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูกฝายชะมวงประมาณ 10,000ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำแซง ตั้งอยู่ที่บ้านคลองหินเช่นเดียวกัน ความจุระดับเก็บกัก 5.5 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำช่วยพื้นที่ฝายชะมวง 7,000 ไร่ โครงการผันน้ำฝายคลองกรอยใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ไปอ่างเก็บน้ำคลองกรอยน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดําริ โดยการก่อสร้างท่อผันน้ำจากฝายคลองกรอยใหญ่ฯ ไปอ่างเก็บน้ำคลองกรอยน้อยฯ ความจุ 0.82 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งฝายกรอยใหญ่มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 16.5 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่ขาดแหล่งเก็บกักน้ำ จึงใช้วิธีผันน้ำ ส่วนเกินมาเก็บกักในอ่างเก็บน้ำคลองกรอยน้อยฯ โดยการปรับปรุงโดยใช้สิ่งก่อสร้าง ยังมีอีก 2 โครงการย่อยได้แก่ โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ที่มีความจุระดับน้ำเก็บกัก 20 ล้าน ลบ.ม. โดยจะระบายน้ำคลองป่าบอน และคลองพรุพ้อ ไหลลงสู่ฝายคลองทราย จากนั้นวางแนวท่อส่งน้ำไปตามถนนระบายน้ำลงที่หน้าฝายชะมวง และโครงการขยายคลองส่งน้ำฝายชะมวงเพื่อเก็บกักน้ำ ความจุประมาณ 1.75 ล้าน ลบ.ม.

3. การปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อแก้ไข และบรรเทาปัญหาของโครงการฝายชะมวง อันได้แก่ โครงการสะพานข้างคลองรัตภูมิหน้าฝายชะมวง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 7×60 เมตร จํานวน 1 แห่ง เพื่อช่วยเหลือด้านการคมนาคมและการเดินทาง สัญจรในชีวิตประจําวันของประชาชน โครงการปรับปรุงฝายชะมวง ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้เพียงพอทําให้เกิดปัญหาในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยมีแนวทางเพิ่มประตูระบายน้ำฝั่งซ้าย ขนาดบานระบาย 6×6 ม. จํานวน 3 ช่อง เพื่อระบายน้ำและตะกอนตกจมหน้าฝาย

โครงการปรับปรุงฝายไสท้อน ปรับปรุง เพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและประตูระบายน้ำ จากฝายขนาดยาว 20 เมตร สูง 2.7 เมตร เป็น ประตูระบายน้ำ ขนาด 4×4 ม. จํานวน 2 ช่อง โครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำท่าประบ่า รวมไปถึงโครงการปรับปรุงคลองส่งน้ำส่วนต่างๆ เช่น ท่อส่งน้ำ การติดตั้งประตูระบายน้ำ และติดตั้งบานระบายน้ำเปิด-ปิด เป็นต้น