“HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี

0
125

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย
ร่วมด้วย บุ๋น – เปรม ,กร-Proxie ส่งความห่วงใย พร้อมชวนร่วมขบวนแสดงพลังในแคมเปญ
“HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสเอชพีวีจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันเชื้อเอชพีวีซึ่งติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสใกล้ชิด และเชื้อเอชพีวีจะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือมะเร็งต่าง ๆ ได้ในอนาคต อาทิ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ โดยโรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มความหลากหลาย ในเดือนมิถุนายนซึ่งตรงกับ PRIDE Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสมาคมมะเร็งวิทยานรีเวชไทย จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเพศหลากหลายหันมาตระหนักถึงภัยร้ายของโรคมะเร็งที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี และมาร่วมขบวนรณรงค์แสดงพลังหยุดเชื้อเอชพีวีไปด้วยกันในกิจกรรม “HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี จัดขึ้นที่ CRA HALL ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งเปิดให้รับชมผ่านทางช่อง Youtube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมส่งสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนตื่นตัว มีความรู้มีความเข้าใจ ก้าวทันโรคและป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ลดเสี่ยงมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนเอชพีวีให้มีภูมิต้านทาน สร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้ทุกความหลากหลายภายใต้พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี” โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมรณรงค์หยุดเชื้อเอชพีวีไปกับดารานักร้องสองหนุ่มคู่จิ้นสุดฟิน “บุ๋น นพณัฐ กันทะชัย” และ “เปรม วรุศ ชวลิตรุจิวงษ์” พร้อมด้วย “กร วรรณไพโรจน์” ศิลปินวง Proxie นักศึกษาแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่อาสาร่วมขบวนหยุดเชื้อเอชพีวี มาร่วมพูดคุยส่งความห่วงใยให้กับทุกคน เพราะไม่อยากให้ทุกคนต้องพบกับการสูญเสียที่เกิดจากโรคมะเร็งเลยอยากร่วมรณรงค์ชวนกันมาป้องกันหยุดเชื้อเอชพีวี พร้อมร่วมเล่นเกมสนุกๆ สร้างรอยยิ้มและพลังใจให้กับผู้ร่วมแสดงพลัง NO HPV NO LIMIT เข้ารับวัคซีนเอชพีวีในวันงานและแฟนคลับแบบใกล้ชิดติดขอบเวทีโดยมี “ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ” รับหน้าที่พิธีกรในงาน

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า “ในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นโอกาสอันดีซึ่งตรงกับเดือน PRIDE Month จึงได้ร่วมกันจัดบริการวิชาการโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพแก่ประชาชน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีในวงกว้างซึ่งทางสมาคมฯและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในสตรี และปีนี้ภายใต้แคมเปญ HPV PRIDE Month NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี เราจึงได้ขยายกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์สู่เพศหลากหลายกับเชื้อ HPV โดยสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์เน้นให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และเพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าใคร หรือไม่ว่าจะทางไหน หากไม่ใส่ใจป้องกัน ก็อาจมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ทุกเพศไม่ต่างกัน และทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ โดยพบว่ากว่า 8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงถึง 2-5 เท่า”

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อเอชพีวีกับโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ว่า “HPV ย่อมาจาก Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ ทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน เชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย ได้แก่ HPV 6, 11 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด HPV 16, 18, 58, 52, 45 สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการติดเชื้อ HPV คือการพัฒนารอยโรคไปสู่มะเร็งชนิดต่าง ๆ ในอนาคตได้”

การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ กว่า 10 ปี ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อลุกลามแล้ว ทำให้ผู้มีเชื้อเอชพีวีไม่รู้ว่าได้รับเชื้อมาและอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อ HPV ไปได้ แต่มีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดได้เชื้อ HPV ก็จะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือ มะเร็งต่าง ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งเชื้อ HPV นอกจากจะเป็นสาเหตุหลักที่สามารถพัฒนาให้เกิดมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีมะเร็งอีกหลายชนิดที่การติดเชื้อ HPV เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อาทิ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกกลุ่มความหลากหลาย ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทั้งการใส่ถุงยางอนามัยและไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ร่วมกับการป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน HPV ให้มีภูมิต้านทานเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้ทุกชีวิตไม่สะดุดพบเจอความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายถึงวันป้องกันหยุดเอชพีวีเพื่อให้ทุกความหลากหลายสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางhttps://www.chulabhornchannel.com/news-activities/2023/06/hpv-pride-month/

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งวัคซีนเอชพีวีชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18 ) 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) และวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยเด็กช่วงอายุ 9-15 ปี จะเป็นช่วงวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดเนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมสร้างความปลอดภัยห่างไกลมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. Add LINE นัดหมายผ่านทาง LINE Official @chulabhornhospital กดเมนู “ศูนย์การรักษา” เลือกศูนย์ “สุขภาพสตรี” และกดติดต่อนัดหมายการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี มาร่วมขบวนหยุดเชื้อเอชพีวีไปด้วยกัน No HPV No Limit #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี