คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ “ผลกระทบและแนวทางการป้องกันแผ่นดินไหวต่อเขื่อนภูมิพล (ยันฮี)”
เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “ผลกระทบและแนวทางการป้องกันแผ่นดินไหวต่อเขื่อนภูมิพล (ยันฮี)” ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ แลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมกันพิจารณาแนวทางการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิต เป็นประธานในพิธี และ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับและกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของวิศวกรรมศาสตร์ในการสร้างความปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ไขที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วยนักวิชาการ วิศวกร เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจในประเด็นภัยพิบัติและความปลอดภัยของเขื่อน
การเสวนาในครั้งนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปราย ได้แก่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ จินตนาภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คุณกำฤทธิ์ ใบแย้ม ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
เนื้อหาการเสวนาครอบคลุมทั้งในด้านความรู้ทางวิศวกรรมโครงสร้าง ธรณีวิทยา การประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดตาก ไปจนถึงแนวทางการเฝ้าระวัง ปรับปรุง และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาเชิงลึก พร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเป็นศูนย์กลางความรู้ทางวิศวกรรม ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืนในอนาคต