กรมชลฯ เดินหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “อ่างเก็บน้ำห้วยป่าสัก-อ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ย” ช่วยราษฎร

0
851

 

กรมชลประทานเดินหน้าศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสัก อ.เวียงเชียงรุ้ง และอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เผยผลการประเมินมีความเหมาะสม แก้ภัยแล้งน้ำท่วม-หนุนการเกษตร พร้อมเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในอนาคต

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่นายคำ สุจา ราษฎรบ้านโป่งหมู่ที่ 1 ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักเพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรในการนี้ สำนักงาน กปร. จึงได้ให้กรมชลประทานเสนอแนะแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแล้วเห็นว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักจะสามารถช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตรได้ จึงได้ถวายรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำนักงานราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสัก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 แต่พื้นที่อ่างเก็บน้ำนั้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในส่วนของป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องตัน (IEE) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป

เช่นเดียวกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ ที่นายก อบต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ขอพระราชทานโครงการ และประสบกับปัญหาเดียวกัน ฉะนั้นทั้ง 2โครงการจึงต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ให้สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) นอกจากนี้การศึกษาโครงการยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น สามารถเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภคในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงได้ และจะต้องสรุปผลการศึกษาทั้งหมดของโครงการในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงผลการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักอยู่ที่บริเวณหมู่1 บ้านโป่ง ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 33 กิโลเมตร ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zoned Eart Dam) ความกว้างสันเขื่อน 8.00 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร ความสูงเขื่อน 22 เมตร ระดับสันเขื่อน +480 ม.รทก. ตรวจสอบเบื้องต้นในพื้นที่มีฝายน้ำล้นมีจำนวน 8 ฝาย เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่อยู่ในพื้นที่เขตให้บริการของการประปา แต่ละหมู่บ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีระบบท่อประปา 17 แห่ง แยกเป็นประปาหมู่บ้าน 14 แห่ง และประปาภูเขา 3 แห่ง ศักยภาพโครงการพัฒนาแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นระดับท้องถิ่น

สำหรับราคาค่าก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสัก รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 123 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างเขื่อนและอาคารประกอบ 77.20 ล้านบาท ค่าก่อสร้างท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายเพื่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักไปยังสระเก็บน้ำ (ปรับปรุงจากบ่อยืมดิน) และค่าปรับปรุงสระน้ำรวม 44.10 ล้านบาท ค่าก่อสร้างท่อส่งน้ำฝั่งขวาเพื่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าสักไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยแล้ง 1.70 ล้านบาท

จากการประเมินความต้องการน้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ศึกษาในปี 2560 พบว่าพื้นที่มีความต้องการน้ำรวม 1.38 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สำหรับอนาคตในอีก 30 ปี (2590) จะมีความต้องการน้ำรวม 1.69 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เพื่อการอุปโภค-บริโภค 0.41 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยเบื้องต้นจะอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 8 ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบ่งโซน (Zone Earth Dam) ยาว 147 ม. สูง 28 ม.ความกว้างสันเขื่อน 8 ม.ระดับสันทำนบดิน +545 ม.รทก.ทางระบายน้ำกว้าง 10 ม. สามารถระบายน้ำได้ 1.478 ลบ.ม./วินาที สามารถคำนวณราคาก่อสร้างที่วิเคราะห์และอ้างอิงจากมาตรฐานราคากลางของกรมชลประทานสรุปได้ว่า ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น47,147,000 บาท

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตลุ่มน้ำห้วยเฮี้ยประกอบด้วยทำนบดินกักน้ำและอาคารบังคับน้ำในลำห้วยเฮี้ย ประเภทเหมือง/ฝายของคนในพื้นที่รวม7 โครงการ รวมพื้นที่รับประโยชน์ 2,140 ไร่ หากพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยจะสามารถช่วยพื้นที่ในการเพาะปลูกพื้นที่เกษตรกรรมได้ คาดว่าในอนาคตอีก 20 ปี (พ.ศ.2518) จะมีพื้นที่การเกษตรที่ใช้น้ำจากห้วยเฮี้ยรวม 1,800 ไร่ จะสามารถเพาะปลูกฤดูแล้งได้ทั้งหมด (ประกอบด้วย พืชตลอดปี 413 ไร่ และพืชฤดูแล้ง 1,387 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงมีการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม รวมแล้วคาดว่าจะมีความต้องการน้ำเพิ่มเป็น 0.77 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอีก