เนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ประชาชนในหลายพื้นที่ ทางรัฐบาลจึงได้วางกรอบนโยบายในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะประเทศไทยอยู่ในร่องมรสุม เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาอื่นๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยไม่ทัน
กรมชลประทานจึงมีโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดคือโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ปี 2557-2560) ได้เสนอแผนรวมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในปี 2564 กรมชลประทานได้มอบหมายให้กิจการร่วมการค้าหรือ PYPC JV ทำการสำรวจโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแผนงานที่ 4 ใน 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
โดยทำการสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ จังหวัดนครปฐม เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ออกสู่ทะเลอ่าวไทย ร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น มีความต่อเนื่องนำน้ำออกสู่อ่าวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์จนถึงคลองภาษีเจริญ โดยการปรับปรุง/ขุดคลองระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที ช่วยพร่องน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของโครงการฯ ตลอดจนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง
ส่วนองค์ประกอบของโครงการนี้มีดังนี้ 1.งานปรับปรุง/ขุดคลอกคลองระบาย 10.552 กม. เป็นอาคารประกอบคลองระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 60 อาคาร และปรับปรุงคลองใต้สะพาน 5 แห่ง มีพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณ 0.75 ไร่ 2.งานอุโมงค์ระบายน้ำ 6.998 กม. ตามแนวคลอง อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 4 เมตร ความลึกท้องอุโมงค์ประมาณ 25-30 เมตร อาคารประกอบของอุโมงค์ระบายน้ำรวม 4 อาคาร พื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 7.935 ไร่ โดยได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้รับทราบข้อมูลของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และรับทราบข้อวิตกกังวลจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้ว ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการได้เป็นอย่างดี โดยมีแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้แล้ว
สำหรับแผนการดำเนินงานแบ่งเป็นการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงข่ายชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปี 2557-2560 ถัดมาคือ สำรวจออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (2564-2565) ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 22 ธ.ค.2565 และนำเสนอโครงการในภาพรวมต่อ กนช.เพื่ออนุมัติหลักการ 9 แผนหลักและในระยะเวลาปี 2560-2572 ก่อนเสนอเปิดโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เตรียมงานก่อสร้างและงานจัดเตรียมเอกสาร ประกวดราคาก่อสร้างโครงการประมาณปี 2567-2569 รวมถึงการจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการให้แล้วเสร็จต่อไป
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้างานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม เพื่อรับทราบปัญหาและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ เนื่องจากการก่อสร้างอุโมงค์จะต้องลอดผ่านพื้นที่ของชาวบ้าน เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองภาษีเจริญแล้วไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ทำให้ชาวบ้านต้องเสียพื้นที่ให้กับโครงการฯ และย้ายไปอยู่ที่ใหม่ อีกทั้งชาวบ้านมีข้อวิตกกังวลในเรื่องของเสียงเครื่องยนต์จากอุโมงค์ระบายน้ำและกลิ่นน้ำเน่าเสีย ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมชลประทานจะนำข้อมูลและปัญหาต่างๆมาศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความถูกต้องและชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอาจจะไม่ครอบคลุมทุกด้าน แต่หลังจากนี้จะเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อ สร้างความเชื่อมั่นและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้โครงการนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ขณะที่นางอรุณี จันทร์แจ่มศรี อยู่บ้านเลขที่ 74 ม.3 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ กล่าวว่า พื้นที่ตรงบริเวณนี้ประมาณ 3 ไร่เศษ เป็นพื้นที่ริมน้ำติดกับคลองภาษีเจริญ เป็นที่ดินของปู่ย่าตายาย อาศัยอยู่มานานจนถึงรุ่นหลาน มีความรักและผูกพันอย่างมาก เมื่อรู้ว่าจะมีโครงการของรัฐเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของเรา ก็รู้สึกใจหายและเสียดายอย่างยิ่ง ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขอฝากไว้ว่าการขอใช้พื้นที่ของชาวบ้านจะต้องสมเหตุสมผล และทำการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน จัดทำประชาพิจารณ์ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เพราะประชาชนหวั่นวิตกในเรื่องของเสียงและกลิ่นที่จะรบกวนรวมทั้งการพังทลายของตลิ่งปัญหาน้ำท่วม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวสร้างประโยชน์แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และช่วยบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างยั่งยืน เราก็ยินยอมให้รัฐใช้ประโยชน์ในที่ดินตรงบริเวณนี้ ที่สำคัญขอให้เกิดความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
จะเห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อสำรวจ ออกแบบ เกี่ยวกับการระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ไปจนถึงคลองภาษีเจริญ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพราะว่าปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคกลางที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยามีขีดจำกัดในการรองรับน้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นในเขต อ.นครชัยศรีและอ.สามพราน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน สำหรับการสำรวจ ออกแบบ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ทั้งที่ดิน และที่อยู่อาศัย ซึ่งการสำรวจ ออกแบบ จะต้องใช้ความรู้และเทคนิค เพราะโครงการต่างๆ สามารถ
ก่อสร้างได้ครั้งเดียว ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบการออกแบบให้ชัดเจน รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำต้องมีประสิทธิภาพ และเมื่อทำการสำรวจ ออกแบบเสร็จเรียบร้อยก็เดินหน้าก่อสร้างทันที สำหรับโครงการดังกล่าวนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2567