รมว.ดีอี ตรวจเยี่ยม ไปรษณีย์ไทย ชี้ต้องขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลและบิ๊กดาต้า  ด้านไปรษณีย์ไทยขานรับนโยบาย พร้อมเสิร์ฟบริการแบบฟูลออพชั่น

0
829

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เข้าตรวจเยี่ยม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ (ปณท) โดยมีกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พร้อมทีมผู้บริหารให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ไปรษณีย์ไทยขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ การนำระบบดิจิทัลและบิ๊กดาต้ามาใช้ รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ไปรษณีย์ไทยไปจัดทำแผนการปรับปรุง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคต กำชับให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยได้ขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมมุ่งปรับปรุงพัฒนางานบริการต่างๆ ให้สอดคล้องและทันกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะ 4 กลุ่มงานบริการหลัก ได้แก่ 1.) บริการไปรษณียภัณฑ์ 2.) บริการขนส่งและโลจิสติกส์ 3.) บริการระหว่างประเทศ และ 4.) บริการค้าปลีกและการเงิน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(รมว.ดศ.) กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่มาอย่างยาวนาน มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าถึงการบริการทุกพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งขององค์กรที่จะต้องพัฒนาและส่งเสริมให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้ (23 สิงหาคม) ตนได้ลงพื้นที่เพื่อดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งมอบนโยบายเพื่อให้การขับเคลื่อนของไปรษณีย์ไทยสามารถแข่งขันได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันกับคู่แข่ง เพราะจากข้อมูลที่ตนได้รับบริษัทเอกชนมีการเติบโตอย่างมาก และมีการส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น หากไปรษณีย์ไทยไม่มีการปรับปรุงอาจจะส่งผลกระทบกับรายได้ในอนาคต

สำหรับในวันนี้ ตนได้มอบนโยบายและแนวทางการปรับปรุง โดยไปรษณีย์ไทยจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ มีความโปร่งใส พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะกรณีการตรวจสอบพัสดุต้องสงสัย อาทิ อาวุธ ยาเสพติด หรือสิ่งต้องห้ามอื่นๆ เหมือนกับต่างประเทศเพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการตรวจสอบจะต้องสามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและตัวเจ้าหน้าที่คัดแยกเอง รวมทั้งในกระบวนการทำงานด้านอื่นๆ ก็จำเป็นจะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ ตนได้มอบหมายให้ไปรษณีย์ไทยจัดทำแผนการปรับปรุง ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รับมือสถานการณ์ในอนาคต พร้อมเสนอกระทรวงฯ ภายใน 1 เดือน เพื่อกระตุ้นการทำงานและเป็นการแสดงให้เห็นว่าไปรษณีย์ไทยไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง ทั้งนี้ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าไปรษณีย์จะสามารถปรับตัวได้เพราะมีจุดแข็งหลายด้านโดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรที่มีความชำชาญมาอย่างยาวนาน

“อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ไปรษณีย์ไทยจะต้องมีการพัฒนาระบบ BIG DATA หรือการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้บริการมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ไปรษณีย์รับรู้ถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค พร้อมนำมาพัฒนาเป็นงานบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์และทันกระแสกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้บริการได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ในการยกระดับองค์กรให้มีศักยภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่ไปรษณีย์ที่ต้องเข้าถึงเรื่องดังกล่าวเท่านั้น แต่ Big Data ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกองค์กร”

นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องการร้องเรียนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้กำชับให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร ดำเนินการภายใต้กรอบเวลา เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใส เบื้องต้นอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อตรวจสอบให้รอบคอบ และรวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อที่จะชี้แจง  โดยการดำเนินการจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้ที่ถูกร้องเรียนและผู้ร้องเรียน  ซึ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามระบบ โดยหลังจากนี้หากตรวจสอบแล้วพบความผิด ก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์และนโยบายการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าผู้บริหารทุกคนจะไม่ใช้องค์กรที่เป็นของคนไทยมาแสวงหาผลประโยชน์

ด้าน นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย ดำเนินการพัฒนาและยกระดับการบริการตลอดเวลา ทั้งในแง่ของคุณภาพการให้บริการ ที่มีความครอบคลุม หลากหลาย และการดูแลพัสดุทุกชิ้น และในแง่ของความรวดเร็วในการขนส่ง ในการรายงานสรุปผลการดำเนินงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถึงเกี่ยวกับภาพรวมกิจการไปรษณีย์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.) บริการไปรษณียภัณฑ์ (Mail Service) 2.) บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (Express and Logistics Service) 3.) บริการระหว่างประเทศ (International Service) และ 4.) บริการค้าปลีกและการเงิน (Retail and Financial Service) รวมทั้งได้กล่าวถึงนโยบายการดำเนินกิจการไปรษณีย์ในอนาคต และการสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศ

นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ไปรษณีย์ไทย พร้อมจะขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายของกระทรวงฯ ยึดหลักการให้บริการด้วยความปลอดภัย และส่งเสริมความมั่นคงในภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ e-Commerce นั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้การแข่งขันทางธุรกิจโลจิสติกส์มีความรุนแรงมากขึ้น ไปรษณีย์ไทย จึงปรับการดำเนินงานเพื่อตอบความต้องการและตรงตามพฤติกรรมของคนยุคใหม่ เช่นการเพิ่มบริการเก็บเงินที่อยู่ผู้รับ (COD) การขยายเวลาให้บริการถึง 20.00 น.ในเขตเมือง และถึง 23.00 น.ในย่านธุรกิจ และให้บริการ 24 ชั่วโมง ในสนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ และ ไปรษณีย์เดอะสตรีท พร้อมรับมือการแข่งขันที่รุนแรง โดยรักษากลุ่มบริการดั้งเดิม และเพิ่มมูลค่ากลุ่มบริการเดิม รวมถึงเพิ่มกลุ่มบริการใหม่ เช่น การสร้างรายได้จากข้อมูล การร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น บริการ bank@post ที่จับมือกับธนาคารในการฝาก-ถอน-โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผ่านช่องทางไปรษณีย์ การเพิ่มบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet@post) เป็นต้น

ในตอนท้าย นายพุทธิพงษ์ยังได้ให้กำลังใจแก่บุคลากรของไปรษณีย์ไทยว่า ตนเป็นอีกหนึ่งคนที่โตมาพร้อมกับไปรษณีย์ไทยดังนั้นจึงต้องการสนับสนุนไปรษณีย์ไทย และผลักดันทั้งด้านการบริการและด้านสวัสดิการ และต้องการให้ไปรษณีย์ไทยดึงเอาศักยภาพออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการทำงานของพนักงานและผู้บริหารทุกคนที่ทำกันอย่างเข็มแข็งและมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้กำลังในการทำงานทุกคนเพื่อให้ก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันอย่างมากมาย ไปรษณีย์เองถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นกำลังใจและสามารถก้าวข้ามอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ไปได้แน่นอน