เมี่ยงน้ำปลาร้า ปลาดุกย่าง ส้มตำใส่ผักก้านจอง ข้าวปุ้นฮ้อน หรือขนมจีนร้อน รสชาติอาหารฝีมือคนพิการกับบรรดาเพื่อนฝูงที่ทำมาเลี้ยงเราในวันที่นัดพบปะพูดคุยกันถึงโครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลยนั้น ยังคงติดอยู่ในความคำนึงถึง ไม่ใช่เพียงเพราะรสอาหารที่มาจากคนปรุงที่มีฝีมือ วัตถุดิบที่สด สะอาด ปลอดภัย เพราะเป็นผักและปลาที่ปลูกและเลี้ยงอย่างธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะความสนุกสนานในการสนทนา การผลัดกันเล่าเรื่องวันเก่า ๆ ของตัวเองที่ไม่ยอมรับความพิการ จนมาถึงวันนี้ ที่ไม่มีใครในกลุ่มนี้มัวพะวงกับความพิการของตนเองอีกแล้ว มีแต่ความภาคภูมิใจที่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้เหมือนคนทั่วไป ที่สำคัญได้เป็นต้นแบบในการช่วยเหลือคนพิการอื่น ๆ ด้วย
นี่คือความงดงามที่ประทับ หลอมรวมไปกับรสอร่อยของอาหารในวันนั้น เสียงหัวเราะเฮฮาร่าเริง และเรื่องราวที่คนพิการแต่ละคนผลัดกันเล่าถึงอดีตของตัวเองอย่างขบขัน ทำให้เราต้องพยายามนึกว่า คนพิการกลุ่มนี้ตอนที่ยังไม่กล้าออกมาพบปะผู้คน ไม่ยอมรับนับถือตัวเอง ไม่แม้แต่จะอยากเจอคนพิการด้วยกันเองนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร
การประกอบอาชีพ ไม่ใช่แค่เรื่องของการหารายได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ยืน ไม่มีศักดิ์ศรี เพราะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป กลับมาภาคภูมิใจในตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม ที่สำคัญ การรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพอย่างโครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลยนี้ ยังทำให้คนที่เคยไม่มีสังคม ได้มีเพื่อน ได้พูดได้คุย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขที่สูญหายจากชีวิตไปเนิ่นนาน การมีเพื่อนทำให้มองเห็นทั้งตัวเองและคนอื่น ความสัมพันธ์ช่วยทำให้เห็นพลังของการใช้ชีวิตร่วมกัน และอาชีพทำให้เห็นเป้าหมายของชีวิต เห็นสิ่งที่ต้องการทำต่อไปทีละขั้น ๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ และในระหว่างทางที่ตนเองเริ่มมีกำลัง เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้วนั้น ยังทำให้เกิดความต้องการที่จะช่วยเหลือคนอื่นที่เคยมีความทุกข์ ขาดแคลน หรือสูญเสียอย่างตนเองมาก่อน
ไม่ใช่เพียงคนพิการกลุ่มนี้เท่านั้น ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ คนพิการที่สามารถยอมรับความพิการของตนเองได้ และหันมาหาหนทางในการประกอบอาชีพ มากกว่าการรอรับเพียงเบี้ยยังชีพคนพิการนั้น ต่างมีความคิด ความรู้สึกไปในทำนองเดียวกันว่า การทำงานทำให้เกิดความภาคภูมิใจ การรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ ทำให้มีเพื่อน มีสังคม เกิดความรักใคร่กลมเกลียว ต้องการช่วยเหลือแบ่งปันกัน และการช่วยเหลือคนอื่นย่อมทำให้เห็นคุณค่าในตนเอง เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น
โครงการเสริมศักยภาพอาชีพคนพิการระดับตำบล จังหวัดเลยที่เป็นการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ ที่แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้น มีทุนให้ไม่มากนัก แต่ผลที่เกิดขึ้นครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิต การมองเห็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตทำให้เกิดความต้องการในการพัฒนาตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ คนหนึ่งคนที่พลิกฟื้นชีวิตของตนเองได้ จึงหมายถึงชุมชนและสังคมที่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็น วงกว้างต่อไปเป็นลำดับ
“โครงการหนูนาเราตั้งใจไว้ว่าจะให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กับสมาชิกของคนพิการในตำบลกกดู่ที่สนใจที่จะเลี้ยง เราจะให้เขามาลงทะเบียนเอาไว้และคาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะแจกได้” (นายอนุสรณ์ วันหากิจ ประธานชมรมคนพิการ ต.กกดู่ อ.เมืองเลย จ.เลย)
นี่คือความตั้งใจของชมรมคนพิการ ต.กกดู่ อ.เมืองเลย จ.เลย ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นความตั้งใจตั้งแต่เริ่มแรก ว่าถ้าทดลองเลี้ยงหนูนาสำเร็จแล้วจะแจกจ่ายให้กับคนพิการอื่น ๆ ในชุมชนที่ต้องการเลี้ยงหนูนาสร้างรายได้เสริมด้วย ในระหว่างพาชมหนูนาที่เลี้ยง เราได้เห็นความตั้งใจจริงนี้ของอนุสรณ์หรือแจ๊ค ที่ย้ำกับเพื่อน ๆ ร่วมโครงการอีกครั้ง ในการร่วมมือกันแบ่งปันผลผลิตที่ได้ ให้กับคนพิการอื่น ๆ ด้วย
เช่นเดียวกันกับโครงการสร้างพลังคนพิการ ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เครือข่ายกลุ่มคนพิการของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่มีจุดเริ่มต้นการเลือกประเภทสินค้าที่จะผลิตจากการวิจัยตลาด และได้ข้อสรุปที่การผลิตสินค้าโดยใช้แนวคิดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน แล้วแลกเปลี่ยนความรู้กันรายบุคคล แต่ละคนจะพัฒนาอาชีพโดยมีเทคนิคของตัวเอง คนประกอบอาชีพเดียวกันแต่มีรายได้แตกต่างกัน คนที่มีรายได้มากกว่าคนอื่นก็ยินดีที่จะแบ่งปันเทคนิคแก่เพื่อน เพราะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ได้สอนเพื่อน และเพื่อนชื่นชม
“มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ เค้าก็โดนคนล้อเลียนจนเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอคิดได้ว่าตัวเองก็มีมือมีเท้าและสมองยังดี ก็เปลี่ยนใจไปเป็นสาวโรงงาน คนพิการที่เห็นเป็นรูปธรรม คนพิการทางกายภาพส่วนมากจะโดนล้อเลียนเยอะ อย่างปากแหว่ง ตาเหล่ น้องคนนี้เลยอยากกลับมาอยู่ที่บ้าน ทำสานเปล เพราะมีความสุขมากกว่า”
(พัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างพลังคนพิการ ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เครือข่ายกลุ่มคนพิการของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา)
การที่คนพิการสามารถประกอบอาชีพได้จึงหมายถึงการมีศักดิ์ศรี มีพื้นที่ยืนทั้งในครอบครัวและสังคม เกิดความสุขในชีวิตเพราะมีรายได้เลี้ยงตัว ไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่น ได้อยู่ในสังคมที่ดี มีเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย แบ่งเบาความทุกข์ ปันความสุข อาชีพสำหรับคนพิการจึงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตดังที่กล่าวไป เมื่อชีวิตของคนพิการดีขึ้นจากการประกอบอาชีพแล้ว เขาจึงเกิดพลังและอยากแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับคนที่ยังขาด เพราะการมีรายได้ มีศักดิ์ศรี และมีเพื่อนนั้น ทำให้ชีวิตของเขาสมบูรณ์ได้โดยที่ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพมาเกี่ยวข้องเลย