จากกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา กับพวกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1708/2564 กรณีที่นายณพ อ้างว่านายเกษม (บิดา) เป็นตัวแทนให้กับคุณหญิงกอแก้ว (แม่ยาย) ในการซื้อหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด และการโอนหุ้นวินด์ เอนเนอยี ไปให้บริษัทโกลเด้น มิวสิค ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ครอบครัวมีแถลงการณ์ประกาศตัดนายณพ ออกจากตระกูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561
ที่ผ่านมานายเกษมได้ถูกเข้าใจผิดมาตลอดระยะเวลาหลายปีว่า การที่นายเกษม และครอบครัวณรงค์เดช ออกมาพูดเรื่องการถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นของนายเกษมไปให้แก่คุณหญิงกอแก้ว เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งที่มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนายเกษมในเอกสารปัญหาดังกล่าวโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ผลปรากฎจากการตรวจสอบจากทั้ง 2 สถาบันล้วนยืนยันออกมาตรงกันว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ใช้ความอดทนเพื่อรอการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ1753/2566 โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า เอกสารจำนวน 5 ฉบับเป็นลายเซ็นปลอม กล่าวคือ
1) สัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ ที่นายเกษม ทำกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด
2) หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ที่นายเกษม รับเป็นตัวแทนของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์
3) ตราสารการโอนหุ้น ที่นายเกษม โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว
4) ใบซื้อขายหุ้น ที่นายเกษม ขายหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิค ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว
5) คำประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นทรัสต์ ที่นายเกษมประกาศว่า หุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคเป็นของคุณหญิงกอแก้ว และผลประโยชน์ใดๆที่เกิดขึ้นจากหุ้นต้องตกเป็นของคุณหญิงกอแก้ว รายละเอียดของคดีดังกล่าวขอให้นายพิชา ป้อมค่ายทนายความของครอบครัวณรงค์เดชชี้แจงต่อไปโดยทนายความครอบครัว ณรงค์เดช กล่าวว่า “ทั้งนี้เอกสาร 5 ฉบับที่มีลายมือชื่อนายเกษม ที่ศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นลายมือชื่อปลอม จึงถือว่าเป็นเอกสารปลอม ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ริบเอกสารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ซึ่งการริบตามความหมายในคำพิพากษาศาลก็เพราะเอกสารปลอมถือเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือโดยนำไปใช้ก็จะมีความผิด แต่คดีนี้ศาลได้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากฝ่ายโจทก์ (นายเกษม) ไม่สามารถยืนยันระบุได้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ทำเอกสารปลอม แต่ด้วยผลแห่งคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ดังกล่าวที่พิพากษาอย่างชัดเจนว่าเอกสารทั้ง 5 ฉบับเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านายเกษมไม่เคยเป็นตัวแทนหรือนอมินีของคุณหญิงกอแก้วในการซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอยี ตามที่นายณพ และคุณหญิงกอแก้วได้กล่างอ้างมาตลอด และเมื่อเอกสารเกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทโกลเด้นมิวสิคระหว่างนายเกษม และคุณหญิงกอแก้วเป็นเอกสารปลอมการโอนหุ้นจึงไม่มีผลทางกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ”
การที่ครอบครัวณรงค์เดช ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนในวันนี้ เพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาจากศาล และได้ตรวจสอบข้อความในคำพิพากษาทั้งหมดแล้ว จากคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่นายเกษม และครอบครัวณรงค์เดชได้พูดกับสื่อมวลชนมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ว่านายเกษมถูกปลอมลายมือชื่อเพื่อโอนหุ้นวินเอนเนอยี ของครอบครัวออกไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว จึงขอนำเอาความจริงที่ศาลได้พิพากษามาแถลงแก่สื่อมวลชน เพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนว่า ครอบครัวณรงค์เดชประกอบอาชีพโดยสุจริต ไม่เคยคิดโกงใคร และนายเกษมเอง เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงไม่มีทางยินยอมเป็นนอมินีหรือเป็นตัวแทนให้แก่คุณหญิงกอแก้วอย่างแน่นอน และธุรกิจในเครือของครอบครัวณรงค์เดช ทั้งหมดได้แบ่งการบริหารงานโดยนายกฤษณ์ และนายกรณ์ ทายาทของครอบครัวที่เหลืออยู่เพียง 2 คนเท่านั้น”