ใต้ร่มพระปรีชาชาญพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

0
982

 

“..ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน

เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่าง อยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัย ปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบประการที่สอง ได้แก่ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีต และประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางาน และหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่ายการช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้ และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝาก ความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป..”

พระราชดำรัสในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารี กรุงเทพฯ ใต้ ณ ลุมพินีสถาน วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2513

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันนั้นเป็นดั่งแสงอาทิตย์ที่ส่องประกายในใจของพสกนิกรไทยทุกคน โดยเฉพาะการสืบทอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยตระหนักเสมอว่างานช่างเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับสากล พร้อมสู่การแข่งขันในตลาดโลก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”