เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และ นครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว ๖๔.๕ ซ.ม. ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว ๒๕.๔ ซ.ม. สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ ซ.ม. หนัก ๑๙๐๐ กรัม
ธารพระกร
เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า
“ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล”
ธารพระกรองค์ นี้สร้างขึ้นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แต่รัชกาลที่ ๑
พระวาลวิชนี
ของเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้
จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า “วาลวิชนี ”