รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นำคณะผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวง อว. ลงพื้นที่ไปยังมหาวิทยาราชภัฏจังหวัดยะลา ร่วมประชุมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในภาคใต้ตอนล่างกว่า 10 มหาวิทยาลัย พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ มุ่งหวังสร้าง “ด้ามขวาน 4.0” โดยใช้โครงการยุวชนสร้างชาติ และ BCG Model เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นนี้
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บอกว่า การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 จำต้องอาศัยองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา โดยการ ที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาโดยการกระจายศูนย์กลางความเจริญลงไปยังแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยกระทรวง อว. มุ่งหวังการพัฒนาให้เกิด “ด้ามขวาน 4.0” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยภาคใต้มีศักยภาพทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และสามารถเป็นศูนย์กลางเศรษฐศาสตร์ของอาเซียน วันนี้ทางกระทรวง อว. จึงลงพื้นที่เพื่อหารือกับมหาวิทยาลัยในภาคใต้ตอนล่าง ถึงแนวทางการขับเคลื่อน ด้ามขวาน 4.0 ให้เกิดความสำเร็จในเชิงประจักษ์ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยการประชุมในครั้ง รัฐมนตรีกระทรวง อว. ยังมอบโจทย์เชิงนโยบายไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันการขับเคลื่อนภาคใต้ให่เป็นต้นแบบ BCG Model ในระดับพื้นที่
โอกาสนี้ ดร.ฉัตฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำเจ้าหน้าที่ สกสว. เข้าร่วมประชุม และศึกษารวบรวมข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาวิเคราะห์และจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศโดยอาศัยกลไกการทำงานของ สกสว.
ในส่วนของนโยบายและยุทธศาสตร์ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563-2570 มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านแพลตฟอร์ม 4 คือ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยปีงบประมาณ 2563 สกสว. จะจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยัง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรม มีผลสัมฤทธิ์สำคัญ คือ ชุมชนมีความสามารถในการจัดการตนเองมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม / รายได้ของคนจนกลุ่มรายได้ร้อยละ 40 ล่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 อย่างทั่วถึง / เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง
ด้วยความรู้และนวัตกรรม