รมช. ประภัตร เดินสายลุย 4 อำเภอ เมืองย่าโม มอบเมล็ดพันธุ์ข้าว เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง – ท่วม รักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร การค้า และการตลาดข้าวไทย พร้อมมอบหญ้าแห้งช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโค
วันนี้ 13 พ.ค. 63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว , นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ , นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว , นายณัฏกิตติ์ ของทิพย์ ผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในพิธีมอบพันธุ์ข้าวโครงการรักษาระดับปริมาณ และคุณภาพข้าว ปี 2563/64 แผนฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง
จากแผนในการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกร 400,000 กว่าราย ในเขตที่ประสบภัยทั้งภาวะฝนทิ้งช่วงและน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา กว่า 6 ล้านกว่าไร่ใน 34 จังหวัด ทางกรมการข้าว ได้เตรียมเมล็ดพันธ์ุ และได้ปรับวิธีรับแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยไม่ต้องมารับที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ เพื่อสนองนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ลดความแออัด ป้องกันการติดเชื้อโรคโควิค-19 จึงจะให้เจ้าหน้าที่นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปมอบให้เกษตรกร ตามรายชื่อสำรวจไว้ว่าเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ ขณะนี้ได้เริ่มจัดส่งในหลายจังหวัดแล้ว ซึ่ง รมช.ประภัตร ได้กำชับว่าต้องเร่งส่งถึงเกษตรกรทั้งหมดให้ทัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกได้ทันฤดูฝน นี้
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่มอบเมล็ดพันธุ์ข้าว “โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64” ณ อำเภอโนนสูง อำเภอชุมพวง อำเภอห้วยแถลง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ได้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความสามารถทางการค้า และการตลาดข้าวไทย จึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแก่เกษตรกรที่ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัยในฤดูนาปี ปี 2562/63 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกทดแทนข้าวที่เสียหาย และเมื่อได้ผลผลิตสำหรับบริโภคในครัวเรือนแล้วสามารถนำส่วนที่เหลือไปจำหน่าย ทำให้มีรายได้ในการดำรงชีพได้ต่อไป ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 63,000 ตัน แบบให้เปล่าแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 827,000 ครัวเรือน ที่ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ในปี 2562 ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 ในพื้นที่ 6.32 ล้านไร่ 34 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สุพรรณบุรี พัทลุง และสระแก้ว
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะได้รับการช่วยเหลือ คือ
1) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
2) เป็นเกษตรกรที่มีแปลงปลูกข้าวเสียหายสิ้นเชิง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ในปี 2562 เดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 โดยมีกรอบการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัม ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงที่ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเกษตรกร ทั้งนี้เกษตรกรต้องนำไปปลูกจริง ห้ามนำไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น
นายประภัตร กล่าวต่อว่า การจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตรจะคัดกรองรายชื่อเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร และนำไปคัดเลือกเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เนื่องจากประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย ในปี 2562 เดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 แล้วนำมาจัดทำบัญชีรายชื่อเป็นรายจังหวัด อำเภอ ตำบล และให้กรมส่งเสริมการเกษตรส่งบัญชีรายชื่อให้กับกรมการข้าว เพื่อจัดทำแผนส่งเมล็ดพันธุ์ข้าว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าว จะกำกับ ดูแล ติดตาม การนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรได้รับการสนันสนุนจากโครงการฯ ไปเพาะปลูก ให้คำแนะนำอัตราการปลูกที่เหมาะสม รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองแก่เกษตรกร
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกข้าว 3,524,504 ไร่ เกษตรกร 245,289 ครัวเรือน โดยในปี 2562 จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรประสบภัยแล้งทั้งสิ้น 1,431,973 ไร่ เกษตรกร 142,588 ครัวเรือน มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 119,621 ครัวเรือน รวมเมล็ดพันธุ์ 9,689,583 กิโลกรัม จำแนกเป็นข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 9,486 ตัน ข้าว กข15 จำนวน 155 ตัน ข้าว กข6 จำนวน 2.830 ตัน และข้าวชัยนาท1 จำนวน 44 ตัน และสำหรับการมอบเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ อำเภอโนนสูง มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ จำนวน 19,359 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 1,710.122 ตัน อำเภอชุมพวง มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ จำนวน 3,832 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 265.351 ตัน อำเภอห้วยแถลง มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,119 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 83.102 ตัน และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,330 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 82.142 ตัน
ทั้งนี้กรมการข้าวยังเตรียมเมล็ดข้าวพันธุ์ดีสำหรับจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไปอีก 15,000 ตันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรและแนวทางส่งเสริมการปลูกข้าวของกระทรวงเกษตรฯ จากการตรวจสอบความต้องการของตลาด โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มหลายสายพันธุ์ที่รับรองพันธุ์แล้ว ในฤดูนาปี 2563-2564 ตั้งเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์รวม 150,000 ตัน ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนรวมที่กรมการข้าวดูแลการผลิตให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งหมดกว่า 600 ศูนย์ คาดว่า เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ในฤดูนาปีนี้จะสามารถนำไปเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ถึง 45 ล้านไร่ มีทั้งพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ต่างๆ ข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวแข็ง รวมทั้งข้าวเหนียวด้วย
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ” พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร จึงได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยในวันนี้ นอกเหนือจากการมาแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรแล้ว ยังได้นำ เจ้าหน้าที่ จาก กรมปศุสัตว์มาชี้แจงต่อพี่น้องเกษตรกรที่ทำนา หรือประสบปัญหาเรื่องน้ำแล้ง ให้มีทางเลือกโดยหันมาเลี้ยงวัวหรือโคขุน ภายใต้โครงการเกษตรสร้างชาติ ที่จะมีการประกันราคาและจัดหาอาหารสัตว์ให้ ซึ่งจะถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมอบหญ้าแห้งอัดฟ่อนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย”