สกสว. เผยความคืบหน้านวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยสู้โควิด-19

0
895

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน นอกจากทีมแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแนวหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงาน แต่ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ตัวอย่างเช่น พนักงานทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่ส่งอาหาร ทำให้เกิดแนวคิดการใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าวแทนมนุษย์ หวังลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยชาวจีนได้ถ่ายทอดประสบการณ์การรับมือกับโควิด-19 ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิจัย มีการแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิ Social Robot เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ หรือการนำหุ่นยนต์มาช่วยคัดกรองคนเข้าประเทศ ปัจจุบันหุ่นยนต์หลายแบบได้ถูกนำไปทดลองใช้ที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในประเทศขณะนี้ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ทางการแพทย์เตรียมนำไปใช้รับมือกับโควิด-19 ที่กำลังระบาดในขณะนี้

ดร. อภิรักษ์ หุ่นหล่อ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือกับบริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ขณะนี้สามารถใช้งานได้แล้ว 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

1) CARVER-Cab 2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย สามารถบรรจุถาดอาหารได้ถึง 20 ถาดในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator

2) SOFA หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล

3) Service Robot เป็นหุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกล ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

โดยหุ่นยนต์ทั้ง 3 รูปแบบนี้เป็นชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการ FACO ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาขึ้น โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เริ่มมีการจำลองการทำงานของระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมส่วนกลางในสภาวะเสมือนจริงให้ทีคณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ได้รับชม ผลปรากฏว่า คณะแพทย์ต่างแสดงความพึงพอใจในรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือถึงแนวทางการนำไปใช้ปฏิบัติการจริงในโรงพยาบาล

ภาพ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อ้างอิง

[1]Yang GZ, Nelson BJ, Murphy RR, Choset H, Christensen H, Collins SH, et. al. COVID-19 may drive sustained research in robotics to address risks of infectious diseases. Sci Robot 2020;5(40):eabb5589. doi:10.1126/scirobotics.abb5589.

[2] Nattha Rakarndee. FACO พร้อมปฏิบัติงานสนับสนุนแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19, FIBO [Online]. 2020 Apr 9 [cited 2020 Apr 17]; Available from: URL:http://fibo.kmutt.ac.th/fibo/faco-พร้อมปฏิบัติงานสนับสน/