Blockchain” เทคโนโลยีอนาคตของธุรกิจประกันภัย

0
432
Blockchain กำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีอนาคตของธุรกิจประกันภัยเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า การมาของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจต่าง ๆ มากมายทั่วโกภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี ด้วยจุดแข็งในด้านความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่จัดเก็บอยู่สูง รวมไปถึงลักษณะการเก็บข้อมูลแบบกระจายอำนาจ(Decentralized) และยังมี smart contract ช่วยให้ดำเนินการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้เองกำลังจะเข้ามาแก้ปัญหาและปรับปรุงรูปแบบการจัดการข้อมูลในอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้นเทคโนโลยี Blockchain กับการปฏิวัติธุรกิจประกันภัย

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ธุรกิจประกันภัยที่มีรากฐานยาวนานหลายพันปีมาแล้วนั้น เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผล ทั้งความเสี่ยงและโอกาสกันตลอดเวลา และมีการจัดเก็บข้อมูลประกันภัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแบบทวีคูณ แต่หลายบริษัทประกันภัยยังคงจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลของบริษัทตนเอง ซึ่งยากต่อการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น การส่งต่อข้อมูลสำหรับการเคลมระหว่างบริษัทประกัน

เมื่อผู้ป่วยที่มีสิทธิในการเคลมประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุจากหลายบริษัทฯ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ในการเบิกเงินแต่ละครั้งจะต้องลงรายละเอียดของข้อมูลจำนวนมาก และมีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อโรค รหัสโรค อาการ ยาที่ใช้รักษา รวมถึงวิธีการรักษาต่าง ๆ มากมาย และอาจจะมีข้อมูลที่จะต้องส่งให้หน่วยงานหลากหลาย ทั้งบริษัทประกันภัย โดยตรงหรือผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นต้น ทำให้เกิดความผิดพลาด และยุ่งยากซับซ้อนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จัดการข้อมูลในธุรกิจประกันภัยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ เพราะนอกจากเทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าข้อมูลจะไม่ถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงแล้ว การฝังคำสั่ง programmatic เข้าไปใน smart contract จะช่วยให้การจัดการในด้านต่าง ๆ ดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ และมีความรวดเร็วมาก พร้อมกับประโยชน์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ธุรกิจประกันภัยของคุณสามารถก้าวล้ำสู่อนาคตได้ ดังต่อไปนี้

1. ยกระดับความปลอดภัยให้ข้อมูล

เครือข่ายบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน และมีความปลอดภัยสูง จึงทำให้ยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล ทุกครั้งที่มีข้อมูลชุดใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการติดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ รูปแบบประกัน การเคลม การจ่ายเงินค่าสินไหม การตรวจสอบความเสี่ยง และข้อมูลอื่น ๆ ของบริษัทประกันภัย ผู้เอาประกันภัย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกจัดเก็บและเรียงต่อกันในระบบบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ภายในข้อมูลเดียวหรือคอมพิวเตอร์เดียว แถมยังมีด่านการเข้ารหัสระดับสูงอีกด้วย จึงมั่นใจได้ว่าข้อมูลจะมีความน่าเชื่อถือสูง ถูกต้องแม่นยำ และอัปเดตล่าสุดอยู่เสมอ

2. ป้องกันการฉ้อโกง              

เมื่อมีการใช้ความสามารถของบล็อกเชนกำหนดให้ข้อมูลบางส่วน เป็นแบบ Public Ledger หรือ สมุดบัญชีสาธารณะ จะทำให้ปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมซ้ำซ้อน กลายเป็นอดีตไปในทันที ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรายการขอเคลมค่าสินไหมที่ยื่นเข้ามา จะลดลงอย่างมหาศาล และด้วยกลไกอัตโนมัติในการยืนยันความถูกต้องในทุก ๆ รายการ และในทุกๆ ฐานข้อมูลที่กระจายกันอยู่ จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันภัย หรือ ฝ่ายอื่นๆ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของนิติกรรมสัญญา ธุรกรรมการติดต่อขอเบิกเคลมจากผู้เอาประกัน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ง่าย สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ได้แม่นยำ และไม่มีปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อนอีกด้วย

3. ประหยัดต้นทุนและทรัพยากรในการจัดการข้อมูล

ตามรายงานของ PwC ระบุว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการประกันภัยได้มากถึง 15%-25% เลยทีเดียว เนื่องจากบริษัทประกันภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำระบบกลางมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดเก็บข้อมูล แถมยังมีประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลที่สูงกว่ามาก ซึ่งช่วยลดต้นทุนสำหรับระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การพัฒนาระบบงาน และกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ

4. เสริมประสิทธิภาพและความรวดเร็ว

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ทำงานบนระบบออนไลน์ทั้งหมด มีการอาศัยเครื่องแม่ข่าย (nodes) หลายจุดร่วมกันบันทึกและประมวลผลข้อมูล จึงทำให้ข้อมูลมีความพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ลดความล่าช้าที่เกิดจากการจัดการเอกสารในการดำเนินการธุรกรรมผ่านการประมวลผลแบบอัตโนมัติ สามารถจับคู่ข้อมูลและตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การโอนเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ได้ในทันทีตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ จึงช่วยยกระดับธุรกิจประกันภัย ให้มีความคล่องตัวสูงยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน เรียกได้ว่าทั้งง่ายและสะดวกต่อบริษัทประกันภัยในทุกมิติ ส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

5. ผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีการพัฒนา

ความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลบล็อกเชนกับแหล่งข้อมูลอื่น จะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถสร้างแบบจำลองข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัยตัวใหม่ให้เกิดขึ้นได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันรถยนต์สามารถรวบรวมและจัดทำความสัมพันธ์ของข้อมูลเป็นเชิงลึกบนบล็อกเชน จากการรวบรวมข้อมูลตามการใช้งานจริงของผู้ใช้รถ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการขับขี่ ความเร็ว ระยะทาง คุณลักษณะด้านความปลอดภัย หรือพฤติกรรมการเบรกรถ เป็นต้น โดยข้อมูลดังกล่าวช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง และสร้างข้อเสนอกรมธรรม์ตามรูปแบบการใช้รถของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์บางส่วนที่จะเกิดขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมประกันภัยมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ และเป็นที่ชัดเจนว่านวัตกรรมนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าสนใจเท่านั้น  แต่เป็นระบบที่จะช่วยให้ธุรกิจประกันภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันด้วยชุดข้อมูลเดียวกัน ที่มีความน่าเชื่อสูง และมีความปลอดภัยอีกด้วย