กรมชลเดินหน้าแก้อุทกภัยชุมพร สร้างอ่างคลองแย – เพิ่มการระบายน้ำคลองหลังสวน

0
922

ปัญหาอุทกภัย เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และหาแนวทางแก้ไข จังหวัดชุมพรเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอพะโต๊ะและอำเภอหลังสวน ซึ่งเป็นที่ราบต่ำมีน้ำจากภูเขาไหลมารวมกันก่อนออกสู่ทะเล จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งด้านอุปโภค การเกษตร ตลอดจนการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหานี้ ทางกรมชลประทานจึงจัดทำโครงการ “อ่างเก็บน้ำคลองแย” และโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อำเภอหลังสวน” เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตำบลพะโต๊ะ และตำบลพระรักษ์ ในอำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้

การสร้างอ่างเพื่อช่วยเกษตรกร จึงเป็นอีกแนวทางหนี่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านได้ โดยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ที่ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม บางครั้งเกิดน้ำล้นตลิ่งในเดือนมีนาคม สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ทางกรมชลประทานได้ทำการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองหลังสวนกลุ่มย่อย โดยจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้เลือกโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย ตำบลพะโต๊ะ เป็นเป้าหมาย เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนา และจะต้องเร่งออกแบบต่อเนื่องจากผลการศึกษาปี 2563

 

“ผลการศึกษาพบว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองแยจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้เกิดการพัฒนาในอนาคต เพราะจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ช่วยประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่รวมกว่า 15,500 ไร่ ลักษณะจะเป็นเขื่อนดินถมแบ่งโซน มีระดับสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 400 เมตร สูง 59 เมตร ความจุอ่างระดับน้ำสูงสุด 25.85 ล้านลูกบาศก์เมตร รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,826.88 ลูกบาศก์มิลลิเมตร/ปี เป็นระบบท่อส่งน้ำ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ประมาณปี 2565-2566”

โดยโครงการดังกล่าวอาจจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จำนวน 349.55 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 3,133,604 บาท กระทบต่อสัตว์ป่า จำนวน 117 ชนิด ซึ่งกรมชลประทานประสานงานกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกป่าทดแทน ประมาณ 700 ไร่ พร้อมก่อสร้างหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว (คลองแย) จำนวน 1 แห่ง และจัดหาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ประจำหน่วย เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่โดยรอบ

สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อำเภอหลังสวน ซึ่งประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกัน จากผลการศึกษาพบว่าต้องออกแบบเป็นคลองระบายน้ำหลากเพื่อระบายน้ำจากคลองหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ลงสู่ทะเล ซึ่งมีลักษณะพื้นที่ก่อสร้างแนวคลองกว้างประมาณ 150 เมตร มีแนวคลองที่พาดผ่าน 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางมะพร้าว ตำบลนาพญา ตำบลพ้อแดง ตำบลบ้านควน ตำบลขันเงิน และตำบลท่ามะพลา มีระยะทางทั้งหมด 17.16 กิโลเมตร จากการพัฒนาโครงการจะสามารถผันน้ำออกสู่ทะเลในช่วงฤดูน้ำหลากได้มากถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอหลังสวน ได้ถึงประมาณ 1,375 ไร่ และสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนที่ทำการเกษตรได้ เช่น เงาะ ยาง ปาล์ม เป็นต้น

ในด้านการอุปโภค-บริโภค อำภอหลังสวนไม่มีแหล่งน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องอาศัยการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ฉะนั้นจะมีการสร้างสถานีสูบน้ำผลิตน้ำประปาช่วยประชาชนได้อีก และจำเป็นต้องมีประตูน้ำเพื่อรับน้ำและระบายลงสู่ทะเล

สำหรับรูปแบบของคลองระบายน้ำจะมีประตูระบายน้ำ 9 แห่ง ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 11 แห่ง สะพานรถไฟ 1 แห่ง ไซฟอน 3 แห่ง ส่วนรูปแบบคลองมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.คลองดาดคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตอกเสาเข็มเป็นระยะ ผนังคลองเสียบแผ่นคอนกรีต เหมาะสำหรับพื้นที่จำกัด เช่น แนวคลองตัดผ่านชุมชน 2.คลองคอนกรีตเสริมเหล็กกำแพงตั้งรูปตัวยู เป็นคลองในช่วงตัดผ่าช่องเขาแม่เล เป็นพื้นที่แคบบริเวณช่องเขา และ 3.คลองดาดคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเหมาะสำหรับบริเวณที่โล่ง รวมงบประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ถ้าหากแบบก่อสร้างเสร็จภายในปี 2563-2564 สามารถขับเคลื่อนได้ปี 2565 หรือ 2566

หากโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการทำเกษตรกรถึง 15,500 ไร่ โดยนายสุรัตน์ ลิมป์รัชดาวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านปะติมะ หมู่ 14 ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กรมชลประทานมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแยจะทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำสูง โดยเฉพาะการปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ถือว่าเป็นสินค้าเกษตรขึ้นชื่อในเรื่องของคุณภาพและผลผลิต

โดยในแง่ของพืชเศรษฐกิจในเฉพาะพื้นที่หมู่ 14 มีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เริ่มหันมาผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค มีความมั่นคงทางอาหารเยอะ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเก็บที่มั่นคงด้วย ซึ่งการสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำจะส่งผลประโยชน์แก่ประชาชนและเกษตรกรกว่า 15,500 ไร่ รวมถึงพื้นที่ตอนล่าง คือ อำเภอหลังสวนที่ประสบปัญหาอุทกภัยทุกปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการสร้างอ่างเก็บน้ำกว่า 13-14 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งก็ยินยอมเสียสละให้คนพื้นที่ด้านล่างได้รับผลประโยชน์ ในส่วนเรื่องของการชดเชยทางกรมชลประทานจะต้องดูเรื่องของต้นผลไม้ที่สูญเสียต่อไป