เตรียมรับน้ำเข้าสู่ฤดูฝน กรมชลประทานแจงแผนรับมือบริหารจัดการน้ำท่วมอุบลฯ

0
525

กรมชลประทานเผยภาพรวมสถานการณ์น้ำปี 2564 ปัจจุบันเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกปริมาณมากขึ้น ทำให้สองเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนอย่างต่อเนื่องกว่าสองพันล้าน ลบ.ม. แต่ยังเก็บกักน้ำได้เพียง 5-6% ของความจุอ่าง ในขณะที่พื้นที่ภาคอีสานหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกชุก เสี่ยงอุทกภัย ต้องเร่งระดมพลและเตรียมแผนบริหารจัดการรับมือ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของปี 2564 ในขณะนี้ว่าเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว หากมองในภาพรวมจะพบว่าทางภาคเหนือได้เข้าสู่ฤดูฝนมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ดินอุ้มน้ำไว้จนเต็ม น้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานี้จึงกลายเป็นน้ำท่าทีไหลลงสู่เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ อย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างอยู่ที่ 20-30 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างนี้ยังเป็นเพียง 5-6% ของความจุอ่างเท่านั้น ซึ่งหากในเดือนสิงหาคมและกันยายน มีพายุลูกใหญ่พัดผ่านเข้ามา ก็คาดว่าจะทำให้สามารถเก็บกักสำรองน้ำได้เพิ่มมากขึ้น


ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกำลังได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน และเริ่มมีฝนตกชุก โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำชีและมูล ซึ่งแม่นํ้ามูลช่วงที่ไหลผ่านบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีนั้น สามารถรองรับอัตราการไหลได้เพียง 2,300 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำหลากสูงสุดถึง 5,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและชุมชน โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง


กรมชลประทานได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดในลุ่มน้ำชีตอนล่าง และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยการก่อสร้างคลองผันน้ำที่มีระยะทางยาวกว่า 90 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งคลองดังกล่าวจะมีอาคารประตูระบายน้ำบริเวณปากคลอง อาคารบังคับน้ำบริเวณกลางคลองและปลายคลอง เพื่อช่วยในการเก็บกักน้ำและผันน้ำ โดยสามารถระบายน้ำรวมกันได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที จึงช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ลงได้
“ลักษณะเฉพาะของจังหวัดในภาคอีสานคือเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีภูเขาสูงล้อมรอบ การจะสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จึงทำได้ค่อนข้างยาก แนวทางที่กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการจึงเป็นลักษณะของการสร้างประตูน้ำกั้นลำน้ำมูล เพื่อจะดักน้ำไว้ ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอความรุนแรงในช่วงน้ำหลาก ช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยแล้ว ยังสามารถช่วยเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ได้อีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในฤดูแล้งด้วย”


ด้านการเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติงาน และระบบในการแจ้งเตือนประชาชน อย่างเต็มที่ โดยมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ณ สถานีวัดน้ำ M7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย ในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งหากมีฝนตกหนัก และสถานการณ์น้ำไม่ปกติ จะรีบแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่ง หรือในพื้นที่ลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบผ่านทางจังหวัดทันที

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำกระจายไปในชุมชนจำนวน 30-50 เครื่อง และเตรียมเครื่องผลักดันน้ำติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำมูล เพื่อผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้มอบหมายให้ชลประทานจังหวัด สำรวจและเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และกำลังคน เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น