ปัญหาการเกิดน้ำหลากแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาสายอื่นๆ ปัญหาหนึ่งเกิดจากช่องทางระบายน้ำฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะคลองหลายสายขาดความต่อเนื่อง ทำให้ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่ทัน จนเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งมีทั้งหมด 9 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย 3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่สาม 4.โครงการประปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการบริหารจัดการน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงเร่งเดินหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร โดยโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก นับเป็นส่วนสำคัญของแผนงานที่ 4 จาก 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ล่าสุดนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานงานสำรวจออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการบริหารจัดการน้ำเมื่อฝนตกในพื้นที่ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล จะระบายน้ำออกสู่ทะเลทั้งแนวเหนือ-ใต้ ร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เกินศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเมื่อฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง และจะกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า งานสำรวจออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จะช่วยระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบนคลองภาษีเจริญจนถึงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแก้มลิง โดยผ่านอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางจืด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที รวมถึงควบคุมระดับน้ำทะเล พร้อมปรับปรุงระบบไฟฟ้า/เครื่องกลของประตูระบายน้ำเดิมจำนวน 13 แห่ง และก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง
โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2557 คือ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ปี 2557 – 2560) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ โดยกรมชลประทานได้มอบหมายให้กิจการร่วมการค้า PWFS JV เป็นผู้ดำเนินการงานสำรวจออกแบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองน้ำจืด มีกำหนดระยะเวลา 540 วัน (ปี 2563-2564)
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2565 ด้วยงบประมาณกว่า 8,400 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปากทางเข้าอุโมงค์ ทำคัน ป้องกันตลิ่ง ขุดรอกคลองมหาชัย-สนามชัย ปรับปรุงระบบไฟฟ้า/เครื่องกลของประตูระบายน้ำเดิม และก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง
“เหตุที่ต้องทำเป็นอุโมงค์ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน มีพื้นที่เกษตร และโรงานมากมาย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงสร้างเป็นอุโมงค์ใต้น้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เมตร ความยาว 12.34 กิโลเมตร ดึงน้ำจากภาษีเจริญเข้ามามาถึงใต้คลองบางน้ำจืด สามารถระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มจากของเดิมประมาณ 3 เท่า คือ 130 ลูกบาศก์เมตร/วินาที” นายเฉลิมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับโครงการนี้หากแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตั้งแต่ตะวันตก เนื่องจากผลสำรวจปี 2554 ซึ่งน้ำท่วมใหญ่ จะเห็นว่าแม้กระทั่งแก้มลิง มหาชัยตรงนี้ น้ำก็อาจไม่ได้เข้ามาเส้นนี้เท่าไรในช่วงนั้น เนื่องจากว่าฝั่งตะวันตกนี้ข้างบนจะมีทั้งอาคาร ทั้งถนน ทำให้น้ำไหลมาตรงนี้ไม่สะดวก ซึ่งเรามองในภาพรวม ในช่วงของจังหวัดนนทบุรี กทม. ปทุมธานี และเหนือขึ้นไปอีก ตรงนี้จะช่วยการระบายน้ำได้ แบ่งเบาภาระของแม่น้ำท่าจีนได้ด้วย ผลกระทบของในเขตของกรุงเทพมหานคร เขตนนทบุรี ปทุมธานี ย้อนขึ้นไป โครงการนี้จะช่วยเร่งการระบายน้ำได้ จากเดิมที่เคยท่วม 2-3 เมตรในอดีตที่ผ่านมา