นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีแนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำ โดยเฉพาะเพื่อการเพาะปลูกพืชหรือเพื่อการประกอบอาชีพ
ซึ่งมีการดำเนินการด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนนพื้นที่ควบคู่ไปกับโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน ผ่านการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการจัดเวทีประชาคมระดับหมู่บ้าน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพที่เป็นรูปธรรมเพื่อต่อยอด และเยียวยาผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี
“นอกเหนือจากการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน กรมชลประทานยังได้จัดเวทีประชาคมใน 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เพื่อสนับสนุนด้านอาชีพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมไปถึงเน้นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม มีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน ผ่านวิทยากรที่มีความรู้” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
โดยในส่วนความคืบหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีนั้น นายเฉลิมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากกว่า 50% แบ่งเป็นความก้าวหน้าโครงการทั้งหมดแผนงาน 59.668% ผลงาน 54.544% ช้ากว่าแผนงาน 5.124% โดยแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
1. เขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบพร้อมอุโมงค์ส่งน้ำ เริ่มดำเนินงานเมื่อ 1 พฤษภาคม 2555 คาดว่าจะแล้วเสร็จวันที่ 28 กันยายน 2563 เสร็จสิ้นแล้ว 86.890% ช้ากว่าแผนงานอยู่ที่ราว 3.815%
2. ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 เริ่มดำเนินการวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 ธันวาคม 2562 เสร็จสิ้นแล้ว 83.150% ช้ากว่าแผนงาน 9.182%
3. ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ สัญญาที่ 2 เริ่มดำเนินงานวันที่ 8 สิงหาคม 2561 จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 ปัจจุบันแล้วเสร็จทั้งสิ้น 48.415% ช้ากว่าแผนงานราว 7.269%
4. งานปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณหัวงาน ระยะที่ 1 เริ่มสัญญาวันที่ 1 สิงหาคม 2561 สิ้นสุดสัญญาไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ
5. งานปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหัวงาน ระยะที่ 2 เริ่มดำเนินงานตามสัญญาวันที่ 12 มีนาคม 2562 และจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 กันยายน 2562 ดำเนินการแล้ว 30.20% ช้ากว่าแผนงาน 54.781%
6. ระบบท่อส่งน้ำสายซอยและอาคารประกอบ เป็นงานดำเนินการเอง ดำเนินการแล้ว 89.10% ช้ากว่าแผนงาน 0.9%
7. งานป้องกันการกัดเซาะท้ายอาคารระบายน้ำล้น เป็นงานดำเนินการเองดำเนินการแล้ว 20.918% ช้ากว่าแผนงาน 41.082%
ในส่วนมาตรการการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น กรมชลประทานได้มีแผนการป้องกันแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมรองรับ ทั้งหมด 27 แผน แบ่งเป็น 1. แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 10 แผน 2. แผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 17 แผน ระยะเวลาดําเนินการ รวมทั้งหมด 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555 จนถึง พ.ศ.2564 หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด 14 หน่วยงาน
นายเฉลิมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่าสำหรับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของกรมชลประทานที่สามารถเห็นได้ชัดนั้น แบ่งออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ งานด้านการปลูกป่าทดแทน อนุรักษ์ป่าไม้ ดินและน้ำ ผ่านการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ดังนี้ 1.การจัดกิจกรรมปลูกป่าทดแทน รวม 4,395 ไร่ 2.การจัดกิจกรรมสร้างฝาย รวม 97 ฝาย เป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวร 23 ฝาย ฝายชะลอน้ำผสมผสาน 23 ฝาย และ 3.การบำรุงป่า ปีที่ 4-6 รวมถึงบำรุงรักษาระบบนิเวศน์ต้นน้ำ 2-6 ปี
อีกทั้งยังมีการดำเนินการด้านการป้องกันการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ซึ่งทางกรมชลประทานได้ร่วมป้องกัน ปราบปราม และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในบริเวณลุ่มน้ำรี เพื่อให้มีความร่วมมือกับภาครัฐในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้น กรมชลประทานยังมิได้ละเลยทรัพยากรธรรมสัตว์ป่า โดยหลังจากดำเนินโครงการดังกล่าว ได้มีการตรวจสอบลาดตระเวนเก็บข้อมูลทรพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยรี และตรวจสิบพื้นที่ที่สัตว์ป่าติดค้าง จากนั้นย้ายสัตว์ป่าไปไว้ในบริเวณที่เหมาะสมอีกด้วย