สสส. เครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย จัดงาน “365วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน” นำหลักธรรมะประยุกต์ใช้ จัดการกับภาวะหมดพลังในการทำงาน(Burnout)

0
69

ปัจจุบันภาวะหมดพลังในการทำงาน (Burnout syndromes) ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถือว่า เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งจิตใจและร่างกาย หลายคนตกอยู่ในภาวะนี้ จนรู้สึกไร้พลังใจในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำเครื่องมือ 365 วิธีเติมสุขให้ใจ ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องมือสร้างประสบการณ์ตรงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อการสร้างสุขและการฝึก “รู้เนื้อ-รู้ตัว-รู้กาย-รู้ใจ” นำไปสู่การพัฒนาความสุขอย่างยั่งยืนภายในจิตใจของตัวเอง

งาน 365วิธี เติมสุขปลุกสติให้ใจวัยทำงาน” จัดขึ้น ณ มูลนิธิบ้านอารีย์ โดยภายในงานมีการบรรยายธรรมพิเศษหัวข้อเติมสุขปลุกสติสำหรับวัยทำงานจาก “พระไพศาล วิสาโล” นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยน แนะนำเครื่องมือดูแลใจ โดยวิทยากรหลากหลายท่าน ได้แก่ “วีรพงษ์ เกรียงสินยศ” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา พร้อมด้วย “ชมัยภร บางคมบาง กรรมการบริหารคณะที่ 8 (สสส.) และ  “ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์” ผู้รวบรวม 365 วิธีเติมสุขให้ใจ รวมถึง “ภูษิต รัตนภานพ” อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในงานมีประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นางชมัยภร บางคมบาง กรรมการบริหารคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า “สสส. ตระหนักถึงปัญหาของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ชีวิตต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันหลายอย่าง ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคม รายงานผลการสำรวจ Pain point ของคนวัยทำงาน ปี 2567  จัดทำขึ้นโดยโครงการพื้นที่เรียนรู้เพื่อดูแลหัวใจคนวัยทำงานและองค์กรเครือข่าย (Happy Growth Learning Space) ร่วมกับธนาคาร จิตอาส มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจทั้งหมด 700 คน (จาก 5 องค์กร)  พบว่า ความทุกข์ (pain point) ของคนวัยทำงานส่วนใหญ่กำลังเผชิญ อันดับหนึ่งคือ การหมดพลังจากการทำงาน (Burnout) ร้อยละ 28 รองลงมาเป็น ปัญหาการทำงานเป็นทีม (Teamwork-related problems) ร้อยละ 19 อันดับสามเป็น การขาดเป้าหมายในชีวิต ร้อยละ 11 อย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 5 กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงซึมเศร้าด้วย

ทั้งนี้ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สสส.) ได้ขับเคลื่อนงานในมิติด้านสุขภาวะทางปัญญา (Spiritual Health) เป็นสุขภาวะที่เกิดจากการเข้าใจตนเองและชีวิต เห็นความเชื่อมโยงกับผู้อื่น โลก ธรรมชาติ ร่วมสร้างสังคมเกื้อกูล เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดีด้านอื่นๆ  การสนับสนุนให้เกิด เครื่องมือ “365 วิธีเติมสุขให้ใจ” เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนได้เข้าถึงประสบการณ์ตรงในการสร้างสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็นหนทางในการดูแลใจอย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ สำหรับเครื่องมือ 365 วิธีเติมสุขให้ใจนี้ มุ่งหวังที่จะเปิดพื้นที่ออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงคนวัยทำงานในทุกกลุ่ม มีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ทั้งเป็นหนังสือ เป็นคลิปวิดีโอ เป็นพอดแคสต์ และเป็นสื่อ Interactive บนเว็บไซต์ ทั้งนี้  เพื่อเป็นการลดอุปสรรคปัญหาของชีวิตวัยทำงานที่รีบเร่งและการงานที่รัดตัว ที่อาจทำให้ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมอื่นๆ ได้ เพราะเครื่องมือนี้สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทุกเวลา สะดวกเมื่อไรก็ทำได้เลย”

ด้าน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกากล่าวว่า   “เป้าหมายหนึ่งในการทำงานของพุทธิกา คือเราพยายามประยุกต์พระพุทธศาสนาให้มาอยู่ในชีวิตประจําวัน ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆ ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในยุคสมัยนี้หลายคนก็ไม่ได้ถึงกับปฏิเสธเข้าวัด  แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีแรงจูงใจอะไรที่จะทำให้เขาเข้าวัด หรือว่าหากต้องการหาคําตอบในการคลี่คลายปัญหาชีวิตหรือคลี่คลายความทุกข์ วัดก็ไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นใหม่เสียแล้ว  เราจึงได้จัดทำเครื่องมือนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นสิ่งที่จะช่วยทําให้เราได้เรียนรู้เท่าทันตัวเอง อยู่กับภาวะอารมณ์หรือความคิดของเรา  โดยใช้หลักพุทธศาสนามาเป็นแกนหลัก ซึ่งจากการศึกษาและวิจัยสมัยใหม่ และศาสตร์พัฒนาตัวเองแบบดั้งเดิมในรูปแบบศาสนา รวมถึงคำสอนต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า “ความรู้สึกตัว” เป็น “ประตู” หรือ “เสาหลัก” สู่การดูแลร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ หรือ “สุข” ดังนั้น  เราจึงนำหลักธรรมมาย่อยให้เข้าถึงง่าย ออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยที่หากได้ฝึกอย่างสม่ำเสมอก็เท่ากับว่าได้ฝึกปฏิบัติ ได้เรียนรู้การจัดการกับอารมณ์ตัวเอง นั่นก็คือการได้พัฒนาภายในจิตใจของตัวเอง และเมื่อคนในสังคมต่างได้รับการพัฒนาภายใน มีสุขภาวะทางปัญญาที่ดี ก็เท่ากับเป็นการร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งคําว่าสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้หมายถึงมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงธรรมชาติ สรรพสัตว์ต่างๆ มันคือระบบนิเวศทางสังคม ที่ล้วนส่งผลต่อกันและกันทั้งหมด

ในส่วนของ อาจารย์ภูษิต รัตนภานพ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนคณะทำงานในส่วนของการเขียนภาพประกอบ กล่าวว่า “มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกากับมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ร่วมมือกันทำงานมาโดยตลอด ครั้งนี้ทางพุทธิกาให้โจทย์เรามาเป็นหลักธรรมต่างๆ ซึ่งในช่วงที่เราทำงานร่วมกันนั้น เป็นจังหวะของช่วงที่เพิ่งเปิดภาคเรียน จึงมอบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่งโจทย์ธรรมะแต่ละข้อที่ได้มาให้กับเด็กๆ ไป เพื่อให้เขานำไปตีความออกมาเป็นภาพ ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้มีส่วนร่วมทำงานนี้ก็เกิดผลดีกับตัวพวกเขาเองที่ได้เกิดการเรียนรู้หลักธรรมในการดูแลใจของเขาไปพร้อมๆ กับการทำงานการตีโจทย์เพื่อให้เกิดเป็นภาพออกมา นั่นคือเขาได้ซึมซับไปแล้ว  และที่สำคัญชิ้นงานของเขาได้เผยแพร่ออกสู่สังคมวงกว้าง ที่ไม่ใช่การการทำงานส่งงานอาจารย์ แต่งานของเราได้เชื่อมโยงกับตัวเอง  และภายนอก ก็ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจ”